Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 สิงหาคม 2552

ตลาดการเงิน

กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ... ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่นักลงทุนอาจพิจารณากระจายการลงทุน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2595)

คะแนนเฉลี่ย

ตลอดช่วงที่ผ่านมาในปี 2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้นักลงทุนแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ในบรรดากองทุนรวม FIF นั้น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้มีมูลค่าการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี

นอกจากนี้พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เลือกลงทุนนั้นมักจะมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A ขึ้นไป ขณะที่โดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนจะเน้นการลงทุนในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กองทุนดังกล่าวยังคงดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่มีระยะเวลาการถือครองเท่ากัน ขณะที่พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เข้าไปลงทุนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารกลางหรือตราสารหนี้ภาครัฐที่มีรัฐบาลเกาหลีใต้ค้ำประกันอยู่ซึ่งจะมีความมั่นคงสูงมาก นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการที่กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาในกองทุนดังกล่าวยังได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) 15% อีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอนำเสนอภาวะล่าสุดของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ดังนี้ โดยในปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของเกาหลีใต้ขยายตัวอยางต่อเนื่องในไตรมาส 1/2552 และไตรมาส 2/2552 ที่ 0.1% YoY และ 2.3% YoY ตามลำดับ

เทียบกับการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 4 / 2551 ที่ 5.1% YoY ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น โดยในไตรมาส 2/2552 การส่งออกขยายตัว 22.2% QoQ เทียบกับการหดตัว 19.9% QoQ ในไตรมาส 1/2552 ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ปรับขึ้นมา 40% จากสิ้นปี 2551 แล้ว นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ของเกาหลีใต้ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น การบริโภค การลงทุน ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

กระนั้นก็ดี แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 2/2552 ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่เนื่องจากเงินลงทุนของนักลงทุนไทยในเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงมาก ตลอดจนนักลงทุนอาจเห็นว่าได้ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มากเพียงพอแล้ว จึงอาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีใต้ได้เริ่มปรับลดลงเล็กน้อย (ประมาณ 0.20-0.40%

เนื่องจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2552 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจดังกล่าว อาทิ พันธบัตรของรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Equity Fund) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นเอเชีย ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) การลงทุนทางเลือกอื่นๆ อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้น

กระนั้นก็ดี แม้จะมีการช่องทางการลงทุนต่างๆ ที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้นสำหรับนักลงทุน นอกเหนือไปจาก การลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรต้องคำนึงถึงอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง ตลอดจนระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน