Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กันยายน 2552

ตลาดการเงิน

การซื้อพันธบัตร IMF ของทางการจีน : บทบาทของ SDRs และเงินหยวนที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงินโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2625)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงระหว่างทางการจีนกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกี่ยวกับการซื้อพันธบัตร SDRs (Special Drawing Rights: SDRs) ที่ออกโดย IMF มูลค่า 5.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทางการจีนได้เปิดเผยว่า จะทำการชำระเงินค่าพันธบัตรดังกล่าวในรูปสกุล ;เงินหยวน” แทนที่จะเป็นสกุล ;เงินดอลลาร์สหรัฐฯ” ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า

จากการสังเกตและวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า ในกระบวนการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ของทางการจีนภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลทำให้บทบาทของ ;เงินดอลลาร์ฯ” หายไปใน 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

ขั้นตอนแรก คือ การผลักดัน ;SDRs” ให้มีบทบาทมากขึ้นในฐานะสกุลเงินหนึ่งที่รองรับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ

ขั้นตอนที่สอง คือ การใช้ ;เงินหยวน” แทน ;เงินดอลลาร์ฯ” ชำระค่าพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ก็เท่ากับว่าเป็นการลดบทบาทของ ;เงินดอลลาร์ฯ” ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศลงอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนที่สาม คือ พันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับกระบวนการกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ ออกจาก ;สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ” และขั้นตอนสุดท้าย คือ IMF อาจใช้ ;เงินหยวน” ที่ได้รับชำระค่าพันธบัตร SDRs จากทางการจีน ไปทำการปล่อยกู้ และ/หรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหา ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้เงินหยวนเข้าไปอยู่ในทุนสำรองของประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF โดยปริยาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นัยสำคัญของการใช้เงินหยวนในการซื้อพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF นับได้ว่าเป็นกระบวนการต่อเนื่องหนึ่งของทางการจีนในการเพิ่มบทบาทให้กับ ;สกุลเงินหยวน” ในระดับสากล หลังจากที่ได้ผลักดันประเด็นของการใช้ ;ระบบ SDRs” เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกแทน ;เงินดอลลาร์ฯ” ในช่วงการประชุมต้นเดือนเมษายน 2552 ของกลุ่มประเทศ G-20 มาแล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้นี้ ก็คือ ข้อตกลงในการซื้อพันธบัตร SDRs ที่ออกโดย IMF ระหว่าง IMF กับนักลงทุนรายอื่นๆ อาทิ ประเทศบราซิล และรัสเซีย ซึ่งได้แสดงเจตจำนงในการซื้อพันธบัตร IMF รายละ 1.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (อินเดีย ก็ได้เคยประกาศว่า จะซื้อพันธบัตรที่ออกโดย IMF ด้วยเช่นกัน) ว่าจะมีการชำระเงินในรูปสกุลเงินอื่นใดนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ หรือไม่

ขณะที่ แนวทางการบริหารเงินหยวนที่ได้รับชำระค่าพันธบัตร SDRs ของ IMF ก็เป็นประเด็นที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน เนื่องจากบทบาทของ IMF ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับโลกที่สามารถกระจายความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับประเทศสมาชิกถึง 186 ประเทศทั่วโลก อาจทำให้บทบาทของเงินหยวนในเวทีระดับโลกสามารถขยายตัวออกไปได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับประเทศไทย การที่ ”เงินหยวน” มีบทบาทมากขึ้นในธุรกรรมระหว่างประเทศนั้น อาจทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเล็งเห็นความสำคัญของการกระจายรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินอื่นๆ (นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ) อาทิ เงินหยวน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แนะนำมาโดยตลอด ประกอบกับในขณะนี้ ก็ได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการที่ธปท.กำลังทำการศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของการทำข้อตกลง สว็อปสกุลเงินหยวนในระดับทวิภาคีกับทางการจีน ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนก็อาจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไปตามการเติบโตของการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้กลายมาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 3 ของไทยแล้วในขณะนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน