Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ตุลาคม 2552

ตลาดการเงิน

คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่เปลี่ยน ... จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2666)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 หลังจากที่ได้มีมติให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552 โดยแม้ว่านักลงทุนจะเริ่มทยอยปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 มาที่ร้อยละ 3.25 ในวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในระยะต่อไป แต่เชื่อว่า กนง.จะพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยโดยให้น้ำหนักที่พัฒนาการของพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่โดยพื้นฐานยังคงมีความเปราะบางเพราะเพิ่งเป็นช่วงแรกของการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย อีกทั้งอาจมีโอกาสที่การขยายตัวจากไตรมาสก่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้จะไม่ได้แข็งแกร่งมากเท่าในไตรมาส 2/2552 (ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 QoQ, SA) เนื่องจากยังมีปัจจัยลบอีกหลายประการโดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพการเมืองที่รอท้าทายอยู่ในระยะข้างหน้า ในขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีระดับไม่สูงนัก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ภายนอกกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5-3.0 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปจนถึงสิ้นปี 2552 และอาจขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเหนือร้อยละ 0.5 เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1/2553

ซึ่งทิศทางดังกล่าว ประกอบกับการดำเนินมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนของรัฐบาล ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศและเอื้อให้ กนง.ยังพอมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันต่อไปอย่างน้อยจนถึงราวกลางปี 2553 นอกจากนี้ แม้ว่าตลาดจะได้มีการปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในอนาคตไปแล้วบางส่วน ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็คาดว่า กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/2553 เป็นอย่างเร็ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ กนง.มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่ตลาดคาดการณ์กันไว้

สำหรับโจทย์ของ ธปท.ในระยะต่อไป นอกจากการดูแลภาวะสภาพคล่องให้มีความเหมาะสมในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจแล้ว ความท้าทายคงจะอยู่ที่การบริหารจัดการการคาดการณ์ต่อภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของนักลงทุน การถอยออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำในจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการดูแลสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางด้านราคาและเสถียรภาพของค่าเงินบาท เนื่องจากการมาถึงเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็นของการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อและ/หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจมีผลผลักดันต้นทุนทางการเงินและฉุดรั้งให้เศรษฐกิจมีโอกาสทรุดตัวลงอีกได้

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น มติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมของ กนง.ในการประชุมวันที่ 21 ตุลาคม 2552 น่าจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป คงจะขึ้นอยู่กับภาวะสภาพคล่องและการคาดการณ์ถึงแนวโน้มสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้ของแต่ละธนาคารเป็นสำคัญ

โดยนอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนแล้ว ยังคงต้องติดตามประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โครงการในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง และการประมูลโครงข่าย 3G เป็นต้น ซึ่งคงจะมีผลต่อการใช้วงเงินสินเชื่อของภาคธุรกิจในระยะถัดไป รวมไปถึงแผนการออกพันธบัตรของทางการ ที่ส่วนหนึ่งน่าจะมีการเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยด้วย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังนับว่ามีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับการขยายสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน