Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ตุลาคม 2552

ตลาดการเงิน

การประชุม FOMC 3-4 พ.ย. ... คาดเฟดคงดอกเบี้ย แม้จีดีพีสหรัฐฯขยายตัว 3.5% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2677)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2552 (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าที่จะได้ก้าวพ้นภาวะถดถอยมาแล้ว และกำลังอยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจในบางภาคส่วนที่ยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะตลาดแรงงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับสู่สถานการณ์ที่เป็นปกติ และเมื่อประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯที่ยังมีระดับต่ำและยังไม่ใช่ประเด็นปัญหาเร่งด่วนในระยะอันใกล้นี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบเดิมที่ร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2552 นี้

ขณะเดียวกัน เฟดน่าจะยังคงเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ จนกระทั่งถึงระยะเวลาสิ้นสุดของโครงการตามที่ได้วางแผนไว้ พร้อมๆ กับพยายามที่จะรักษาสมดุลไม่ให้การคาดการณ์และการปรับตัวของตลาดเงิน-ตลาดทุนเป็นไปในทิศทางที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อนึ่ง แม้ว่าตลาดการเงินจะได้มีการคาดการณ์ถึงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีข้างหน้าไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ตลาดก็คงจะจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะสะท้อนถึงมุมมองของเฟดที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ซึ่งการตอบสนองของตลาด ย่อมมีผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ดัชนีหุ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ตลอดจนราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บททดสอบสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะอยู่ที่การปรับตัวของเครื่องชี้สำคัญโดยเฉพาะในตลาดแรงงานและเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะถัดไป ว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพเมื่อใด และมากน้อยเพียงใด หลังจากที่เครื่องชี้เหล่านั้นยังคงมีความอ่อนแออยู่มาก (โดยภาคธุรกิจยังคงมีการปรับลดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานถูกคาดหมายว่าจะขึ้นไปสูงสุดเหนือร้อยละ 10 ในปี 2553 เมื่อเทียบกับที่อยู่ที่ร้อยละ 9.8 ในเดือนกันยายน 2552) ซึ่งหากเครื่องชี้ต่างๆ ทยอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ก็ย่อมจะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดมากขึ้นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของเครื่องชี้สหรัฐฯไม่มีความต่อเนื่องหรือเผชิญกับภาวะสะดุด ตลาดก็คงจะมองว่า เฟดน่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้และรอจนกว่าจะแน่ใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ก่อนจึงค่อยพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยนั้น ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางที่สำคัญในโลก เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะใช้พิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธปท.คงจะให้น้ำหนักกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากอันเป็นส่วนหนึ่งจากการดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านพลังงานของรัฐบาลและทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท คงจะทำให้ ธปท.ยังมีความยืดหยุ่นที่จะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตลอดระยะที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน