Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤศจิกายน 2552

ตลาดการเงิน

คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2553 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2698)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย โดยที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำ ณ ขณะนี้ไปเป็นทิศทางขาขึ้น น่าจะเกิดขึ้นเมื่อ กนง.มีความเชื่อมั่นมากพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

อนึ่ง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักในโลก และสมดุลของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึง (2) ปัจจัยในประเทศ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความคืบหน้าของการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตลอดจนความชัดเจนของโครงการลงทุนในบางสาขา อาทิ โครงการในลักษณะเดียวกับกรณีที่มาบตาพุด และโครงการด้านโทรคมนาคม เป็นต้น ในขณะที่ การเร่งตัวของแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะที่มาจากด้านอุปสงค์ในประเทศ น่าจะเกิดขึ้นในขอบเขตที่จำกัด เพราะเศรษฐกิจเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว และยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจพิจารณาต่ออายุบางมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนออกไปอีก รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอาจยังทำได้ไม่เต็มที่นัก ท่ามกลางภาวะการแข่งขันสูง โดยเฉพาะหลังการเปิดตลาดภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียนในช่วงต้นปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของ กนง. ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ และ กนง.ก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้อยู่อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้นี้

นอกจากนี้ แม้ว่าจังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากระดับผ่อนคลายเป็นพิเศษไปสู่ระดับในภาวะปกติหรือนโยบายที่มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม อาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ แต่การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยโดย กนง. คงจะไม่อาจละเลยการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่สำคัญในโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯไปได้ เพราะความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศ อาจมีอิทธิพลส่วนหนึ่งต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น กนง.คงจะต้องชั่งน้ำหนักและพิจารณาถึงปัจจัยนี้ในการกำหนดนโยบายการเงินเพื่อรักษาสมดุลของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาท

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามและดูไบนั้น แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคาดว่าผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยในปี 2553 คงมีจำกัด จำกัด แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในโลก และยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในทันที ณ ขณะนี้ว่าสถานการณ์ในทั้งสองประเทศดังกล่าวจะใช้เวลานานเพียงใดกว่าที่จะคลี่คลายกลับเป็นปกติ ดังนั้น ธนาคารกลางทุกแห่งทั่วโลก รวมถึง ธปท. คงจะต้องติดตามความคืบหน้าของประเด็นซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่การเข้าไปดูแลความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ของเศรษฐกิจบางประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงขาลงให้กับเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย และส่งผลตามมาให้ กนง.จำเป็นต้องตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน