Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 ธันวาคม 2552

ตลาดการเงิน

แผนพัฒนาตลาดทุนไทย...ผลกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2189)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีกรอบการดำเนินงานในช่วงปี 2553-2557 ซึ่งเป็นแผนที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับแรกที่มีกรอบการดำเนินงานในปี 2543-2545 เพื่อมุ่งหวังให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับใหม่ได้กำหนดมาตรการเพื่อปฏิรูปตลาดทุนไทย 8 มาตรการสำคัญ ซึ่งหนึ่งในในมาตรการดังกล่าว คือ ;การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง” ที่ยืนยันแนวทางการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และระบบการให้ใบอนุญาตแบบครบวงจร การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ หรือค่านายหน้าฯ และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการตามแนวทางที่ระบุไว้ต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดเสรีใบอนุญาตฯ และค่านายหน้าฯ คงจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ผ่านความเป็นไปได้ที่อาจมีการควบรวมกิจการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ การปรับวิธีการคำนวณค่านายหน้าในลักษณะขั้นบันไดที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2553 นั้น น่าจะทำให้ฐานะการเงินของ บล.ในระยะแรก ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะค่านายหน้าในอัตราใหม่ทั้งของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันจะต่ำกว่าอัตราที่คิดอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้ง บล.ยังคงพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าสูงกว่า 75% ของรายได้รวม

ด้านปัจจัยที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ อีกทั้งกำหนดความอยู่รอดทางธุรกิจ บล.หลังจากการเริ่มทยอยเปิดเสรีฯ ดังกล่าวนั้น นอกจากจะได้แก่ขนาดธุรกิจ หรือส่วนแบ่งตลาดแล้ว ก็ยังจะรวมถึงการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน อันจะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอาจต้องคำนึงถึงการให้บริการกับลูกค้าในลักษณะที่ครบวงจร ควบคู่กับการกระจายโครงสร้างรายได้ด้วยการลดการพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้า รวมถึงการบริหารต้นทุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ถึงแม้ว่าประสบการณ์ในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จะบ่งชี้ถึงการปรับตัวในลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การกระจายโครงสร้างรายได้และการบริหารต้นทุน อาจต้องใช้เวลา รวมทั้งยังอาจถูกกระทบจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนทั้งในและนอกประเทศ)

กระนั้นก็ดี แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะผ่านความท้าทายจากการเปิดเสรีฯ ที่จะเริ่มต้นในปี 2553 ไปได้ แต่ก็ยังจะมีโจทย์ที่สำคัญหลายด้านรออยู่อีกข้างหน้า โดยเฉพาะโอกาสที่อาจมีผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดในปี 2555 ภายหลังจากการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ และความคืบหน้าของข้อตกลงการเปิดเสรีภาคการเงิน (FTA ในภาคการเงิน) ซึ่งแม้ในขณะนี้ ข้อตกลงที่สำคัญกับหลายประเทศ โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหรัฐฯ ถูกเลื่อนออกไป แต่หากประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าอีกครั้ง สหรัฐฯอาจหยิบยกแนวคิดการทำ Cross-Border Services กลับมาหารือ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ลดความสนใจในการขอใบอนุญาตธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แต่หันมารุกนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนข้ามพรมแดนจากนักลงทุนไทยแทน อันอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าบทสรุป หรือรูปแบบการปรับตัวของธุรกิจ บล.จะออกมาเป็นเช่นใด ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคงจะได้แก่ ผู้บริโภค ที่น่าจะได้ขยายโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนใหม่ๆ ด้วยค่าบริการที่ถูกลง และบริการที่น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ หากตลาดทุนขยายใหญ่ขึ้นด้วยกลไกการทำงานในด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความคาดหวังของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในลักษณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน