Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ธันวาคม 2552

ตลาดการเงิน

คาดเฟดยืนดอกเบี้ยที่ 0.00-0.25% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2710)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 และอาจต่อเนื่องต่อไปจนถึงกลางปี 2553 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ เฟดน่าจะทยอยลดบทบาทของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing measures) ลงโดยไม่มีการต่ออายุโครงการรับซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ จากกำหนดเวลาที่จะทยอยสิ้นสุดภายในไตรมาสแรกของปี 2553 นอกจากนี้ เฟดน่าจะยังคงส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกระยะ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควบคุมการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของตลาดให้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและไม่บั่นทอนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภายใต้สถานการณ์ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวของเครื่องชี้เหล่านั้น ได้รับแรงหนุนที่สำคัญมาจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากและต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ ขณะที่ภาวะตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอและยังต้องใช้เวลามากกว่านี้กว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ (เป็นที่คาดว่าอัตราการว่างงานสหรัฐฯอาจขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดใกล้ 11% ภายในครึ่งแรกของปี 2553 เทียบกับที่อยู่ที่ 10% ในเดือนพฤศจิกายน 2552) ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจึงเป็นหลักฐานที่ต้องรอการยืนยันในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ กำลังมีแนวโน้มที่จะทยอยลดบทบาทลงในระยะถัดไป ขณะที่ฐานะดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของสหรัฐฯก็อาจจะเป็นข้อจำกัดทางการคลังสำหรับการใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษที่ระดับ 0.00-0.25% อย่างต่อเนื่อง น่าจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเฟดก็น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะจากฝั่งอุปสงค์ที่ยังมีค่อนข้างจำกัด และหากจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำเป็นพิเศษในปัจจุบันไปสู่ระดับที่ผ่อนคลายน้อยลง/เป็นปกติมากขึ้น (Neutralized) ก็น่าที่จะเกิดขึ้นเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากพอต่อการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นอย่างเร็ว

อนึ่ง จากมุมมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ระดับต่ำต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าว ทำให้คาดว่า การลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯอาจยังมีแนวโน้มน่าดึงดูดน้อยลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ (ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอาจจะมีแนวโน้มขยับขึ้นในระยะข้างหน้าเมื่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดสิ้นสุดอายุลงก็ตาม) เมื่อผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นในดูไบ คงจะส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อรักษาสมดุลเสถียรภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและค่าเงินบาท ทางการและภาคธุรกิจเอกชนของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายนี้นอกเหนือไปจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างประเด็นการเมืองและความไม่ชัดเจนของการลงทุนในบางสาขา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน