Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ธันวาคม 2552

ตลาดการเงิน

มุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของเฟด...ปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2714)

คะแนนเฉลี่ย
ในการประชุมวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552 เฟดมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงกรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.00-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาด พร้อมกับคงวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ (Agency Debt) และหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน (Agency MBS) ไว้ตามเดิม ที่ 1.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ และ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ส่วนที่เป็นจุดสนใจของตลาดการเงินในแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดในรอบนี้ อยู่ที่การปรับเปลี่ยนแถลงการณ์ในส่วนที่สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มเติมแถลงการณ์ในส่วนที่บ่งชี้ถึงระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการเฉพาะกิจด้านสภาพคล่องต่างๆ ซึ่งในภาพรวมแล้วมาตรการพิเศษส่วนใหญ่ รวมถึงข้อตกลงสวอปกับธนาคารกลางต่างๆ จะมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การทยอยส่งสัญญาณถอยออกจากมาตรการรับซื้อตราสารหนี้ และมาตรการพิเศษด้านสภาพคล่องต่างๆ ของเฟด จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของธนาคารกลางชาติอื่นๆ ทั่วโลก แต่ความเปราะบางของแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้น และกำลังการผลิตส่วนเกินในระบบ จะยังคงเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้เฟดสามารถใช้ถ้อยแถลงที่ระบุถึงการยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาความต่อเนื่องของสัญญาณเชิงบวกจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องชี้ตลาดแรงงาน ตลาดที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายของภาคเอกชน อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะนั่นอาจนำไปสู่มุมมองที่เป็นเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในการประชุมรอบถัดๆ ไปในปี 2553 ซึ่งก็เป็นนัยว่า สัญญาณในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินจากเฟดก็น่าที่จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

อนึ่ง แม้ความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 จะค่อนข้างต่ำมาก ขณะที่ โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจถูกเลื่อนออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 หรือปีถัดไป แต่หากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็อาจส่งผลทำให้จุดสนใจของตลาดการเงินปรับเปลี่ยนไปจากการปรับตัวไปตาม “ความต้องการเสี่ยง/การกลัวความเสี่ยง” ของนักลงทุน เป็น การปรับตัวไปตาม “ความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบ” ซึ่งเป็นนัยว่า แนวโน้มขาลงของค่าเงินดอลลาร์ฯ จากหลากหลายปัจจัยลบ อาจถูกบั่นทอนลงบางส่วนโดยกระแสการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ในขณะที่ ตลาดการเงินในส่วนอื่นๆ เช่น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้น ก็อาจยังคงเป็นขาขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลายๆ ภูมิภาคของโลก อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยเปราะบางในช่วง 1 ปีข้างหน้า ทางการไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน (โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยน) และในส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ นอกจากนั้นแล้ว นักลงทุนคงจะต้องติดตามว่า เฟดจะยังคงรักษามุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯไว้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ในระยะถัดไป เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวอาจช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้นในบางช่วงเวลาเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ รวมถึงเงินบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน