Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มกราคม 2553

ตลาดการเงิน

แม้เฟดยืนดอกเบี้ยต่ำ ... เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจผันผวน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2746)

คะแนนเฉลี่ย

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 26-27 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา พร้อมกับยืนยันแผนการยุติมาตรการด้านสภาพคล่อง และโครงการรับซื้อสินทรัพย์ตามกำหนดเวลาสิ้นสุดเดิมที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของเฟดอาจนับได้ว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งของการทยอยถอยออกจากนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย และเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียที่ได้ปรับจุดยืนเชิงนโยบายการเงินไปในเชิงคุมเข้มมากขึ้นแล้วนับจากต้นปี

ทั้งนี้ ผลการประชุมนโยบายการเงินที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของเฟด (ด้วยมติ 9-1 เสียง โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่านคัดค้านการยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง) เมื่อประกอบเข้ากับการยืนยันที่จะยุติโครงการรับซื้อสินทรัพย์ตามกำหนดเดิม และมุมมองเชิงบวกมากขึ้นของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ได้ส่งผลต่อเนื่องทำให้กระแสการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจของตลาดการเงินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลกระทบต่อตลาดการเงินที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการขยับขึ้นของความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนผ่านตลาดสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นแวดล้อมที่เกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไปดังนี้ :-

การที่เฟดทยอยถอดถอนมาตรการด้านสภาพคล่อง และยืนยันการสิ้นสุดโครงการรับซื้อสินทรัพย์ตามกำหนดเดิม ณ สิ้นไตรมาส 1/2553 สะท้อนให้เห็นถึง เจตนารมณ์ของเฟดในการจัดการกับความกังวลต่อการทะยานขึ้นของเงินเฟ้อคาดการณ์ โดยปรับจุดยืนให้นโยบายการเงินไม่มีลักษณะผ่อนคลายมากจนเกินไป เพื่อยืนยันถึงการรักษาวินัยทางการเงินของธนาคารกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจไม่ราบรื่นมากนักในปีนี้ น่าจะทำให้เฟดยังคงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ โดยความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553

ไม่ใช่เพียงแค่แนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ เท่านั้น ปัจจัยภายนอกสหรัฐฯ ได้แก่ สัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ธนาคารกลางจีน ตลอดจนฐานะการคลังที่เปราะบางและภาระหนี้ภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศ ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งเงินบาท ซึ่งก็เป็นนัยว่า การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในปีนี้ เพราะทิศทางของค่าเงินจะไม่โน้มไปในทิศใดทิศหนึ่งอย่างชัดเจนเมื่อเช่นแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคในปี 2552

และสำหรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นความจริงที่ว่า เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่ แรงกดดันในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อก็เป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงในปีนี้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจถูกบั่นทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย อาทิ ประเด็นทางการเมืองในประเทศ และความกังวลต่อความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม อาจทำให้ธปท.ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ก่อนที่จะโน้มไปในเชิงคุมเข้มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน