Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กุมภาพันธ์ 2553

ตลาดการเงิน

การผ่อนคลายเกณฑ์ในการดูแลเงินทุนไหลออก...ช่วยรักษาสมดุลค่าเงินบาท (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2749)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติมในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศ การทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติมดังกล่าว นับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการลดข้อจำกัด/อุปสรรคในการลงทุนต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการเปิดช่องทางเพื่อสร้างความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินของธปท.ในครั้งนี้ ดังนี้:-

  • สำหรับผลกระทบต่อทิศทางของค่าเงินบาท อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 2553 นั้น น่าที่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี มาตรการที่ลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนขาออกดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความสมดุลให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
  • การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของภาคธุรกิจน่าที่จะมีความคล่องตัวมากขึ้น ภายใต้สภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2553 ที่อาจผันผวนกว่าปี 2552 อาจทำให้ค่าเงินไม่โน้มไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) กรณีค่าสินค้าและบริการ น่าที่จะเอื้อประโยชน์ในการลดต้นทุนการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยรวมของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าลง
  • สภาพตลาดการเงินและเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้นักลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์/อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศอยู่ แต่กระนั้นก็ดี การเพิ่มวงเงินในการลงทุนต่างประเทศให้กับนักลงทุนดังกล่าว ก็อาจนับได้ว่าเป็นการเพิ่มความคล่องตัวให้กับนักลงทุนในการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้

โดยสรุปแล้ว มาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การดูแลเงินทุนไหลออกล่าสุดของธปท. นอกจากจะเป็นผลดีต่อภาคเอกชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นกลไกที่อาจช่วยสร้างสมดุลคอยบรรเทาผลกระทบที่ค่าเงินอาจได้รับในยามที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทในระยะอันใกล้นี้ คาดว่า จะยังคงถูกกำหนดโดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก โดยหากเงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงหนุนจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน หรือการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของทางการจีนแล้ว คาดว่า เงินบาทอาจยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลง ซึ่งการอ่อนค่าดังกล่าวนั้นเป็นไปตามกระแสของค่าเงินในภูมิภาค ตลอดจนการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน