Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มีนาคม 2553

ตลาดการเงิน

คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุม FOMC 16 มี.ค. (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2777)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมรอบที่สองของปีในวันที่ 16 มีนาคม 2553 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด น่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 0.00-0.25 แม้อาจจะเป็นมติที่ไม่เอกฉันท์เช่นเดียวกับในการประชุม FOMC รอบก่อนหน้า (26-27 มกราคม)

ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เป็นบวกมากขึ้น อาจจะทำให้การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมากของเฟดมีความจำเป็นที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (กำลังการผลิตส่วนเกินของภาคอุตสาหกรรมที่มีเหลืออยู่มาก ณ ขณะนี้ ทยอยปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดคงเลือกที่จะรอดูทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงตลาดการเงิน โดยเฉพาะหลังจากที่ปล่อยให้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณผ่านโครงการรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ทยอยสิ้นสุดอายุลงตามกำหนด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2553 ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เมื่อมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับการเยียวยาให้กลับสู่ภาวะที่สามารถรับมือกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางมากขึ้น ซึ่งจังหวะเวลาที่เหมาะสมน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 มากกว่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีแรก

ดังนั้น ในแถลงการณ์หลังการประชุม แม้เฟดจะมีมุมมองในเชิงบวกมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เฟดก็อาจจะยังคงใช้ถ้อยคำที่ว่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน แม้จะปล่อยให้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหมดอายุลงโดยไม่ขยายเวลาออกไป รวมทั้งอาจมีแผนที่จะทยอยขายสินทรัพย์ทางการเงินในระยะข้างหน้าเพื่อปรับสมดุลสภาพคล่องในระบบ แต่เฟดก็น่าจะระบุด้วยว่าพร้อมที่จะนำมาตรการเหล่านั้นกลับมาใช้อีกเมื่อถึงคราวที่จำเป็น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของเฟด ในภาวะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีแนวโน้มจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นในระยะถัดไปเพื่อลดความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ/หรือเพื่อปรับสมดุลนโยบายการเงินให้มีความเป็นกลางมากขึ้น คงจะมีผลทำให้เม็ดเงินลงทุนมีแนวโน้มยังคงเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าว คงมีส่วนทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์ด้วย แม้ภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีทิศทางที่อาจยังผันผวน ตามจังหวะเวลาการคุมเข้มที่แตกต่างกันไปตามความพร้อมของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ขณะที่ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรับตัวในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯเป็นระยะๆ เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ หากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเมือง และความชัดเจนของการลงทุนในบางสาขา ทยอยคลี่คลายไปในแนวทางที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่การฟื้นตัวยังมีแรงส่งต่อเนื่อง ผนวกกับสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะที่เป็นกลางมากขึ้นในระยะถัดไปของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนอานิสงส์จากสภาวะแวดล้อมในภูมิภาคเอเชีย คงจะทำให้เงินบาทได้รับแรงหนุนให้มีโอกาสปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ภาคธุรกิจเอกชนคงจะต้องเตรียมการเพื่อรับมือกับภาวะที่ต้นทุนทางการเงินมีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน