หลังจากที่ดัชนีต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจ (Financial Condition Index: FCI) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย แสดงการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา อันบ่งชี้ถึง ภาพรวมต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจเอกชนไทยที่มีความเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้นนั้น ดัชนี FCI ดังกล่าว ก็ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเดือนมีนาคม 2553 ตามแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับขึ้นของดัชนี FCI ที่มีแรงขับเคลื่อนจากการดีดตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยดังกล่าว อาจไม่สามารถสะท้อนนัยเชิงบวกในทางปฏิบัติต่อการระดมทุนในภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อปริมาณการระดมทุนใหม่ของธุรกิจเอกชนในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีสาเหตุจากกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นจากต่างประเทศที่มีความผันผวนสูง แต่เมื่อพิจารณาสภาวะการระดมทุนจากอีกมิติหนึ่ง อันได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Availability of Capital) นั้น พบว่า ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน นำโดยการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า แม้ดัชนี FCI อาจเริ่มลดแรงบวกลง (อันหมายความถึงต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจที่คงจะก้าวเข้าสู่จังหวะขาขึ้นที่ชัดเจนขึ้น) โดยเฉพาะเมื่อ ธปท.เริ่มส่งสัญญาณการปรับขั้วนโยบายการเงิน แต่ก็คาดว่าต้นทุนทางการเงินที่มีโอกาสปรับขึ้นดังกล่าว น่าจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในขอบเขตที่จำกัด เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังไม่ถูกปรับขึ้นตามการปรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันที นอกจากนี้ ทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงการแข่งขันปล่อยสินเชื่อระหว่างธนาคารพาณิชย์ในระดับสูง คาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกด้วย ขณะที่ ด้านรายรับของธุรกิจนั้น ก็อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งคงจะช่วยให้ธุรกิจสามารถต้านทานต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มขยับขึ้นได้ แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ยังคงขึ้นกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่เริ่มมีน้ำหนักและมีผลกระทบต่อหลายธุรกิจบ้างแล้วในขณะนี้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น