Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 เมษายน 2553

ตลาดการเงิน

คาด กนง.คงดอกเบี้ย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2802)

คะแนนเฉลี่ย

คงต้องยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างมาก มีลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) เพื่อปรับสมดุลนโยบายการเงินและหลีกเลี่ยงโอกาสที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะไม่สมดุลในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ ทว่า จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหากทำเร็วเกินไป อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้มีโอกาสกลับสู่ภาวะชะงักงันหรือชะลอตัวลง โดยเฉพาะหากการเมืองสร้างความสูญเสียอย่างมากต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายภายในประเทศ หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่องในอีก 1-2 ไตรมาส ก็ยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่ต้องเข้าจัดการดูแลในทันที

จากมุมมองข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) น่าจะยังพอมีความยืดหยุ่นให้สามารถยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 1.25 ในการประชุมรอบที่ 3 ของปีในวันที่ 21 เมษายน 2553 และรอดูผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจก่อนที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ในการทยอยถอยออกจากนโยบายผ่อนปรนเป็นพิเศษ

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น คงจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยแม้ว่าเงินบาทอาจยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ ผนวกกับความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะถูกเลื่อนออกไป แต่เงินบาทก็อาจจะได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค หลังจากที่ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียทยอยเพิ่มความเข้มงวดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของตน สภาวะแวดล้อมดังกล่าว คาดว่าอาจจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าด้วยกรอบความเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้นในระยะเวลาต่อจากนี้ แม้อาจมีอัตราการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอัตราการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คงจะมีผลต่อแนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในสาขาที่มีธุรกิจอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือมีเครือข่ายธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจในย่านดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งคงจะต้องมีการประเมินผลกระทบทางการเมืองต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งในด้านจุลภาค คือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในแง่ของกระแสเงินสด คุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อ รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม ที่อาจชะลอตัวลงจากการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นต้น ฉะนั้นแล้ว หากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อออกไป แผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งการรุกสินเชื่อและการดึงเงินฝากเพื่อเตรียมขยายธุรกิจในปีนี้ อาจจะต้องถูกทบทวนในระยะถัดไป หรือหมายความว่า การแข่งขันกันสู้ราคาในด้านอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (ที่เดิมอาจจะมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) คงจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงนับจากนี้จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองจะเริ่มคลี่คลายลง ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์น่าที่จะยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด ก็ตาม

ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการที่มีแนวโน้มเลื่อนออกไป น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการแสวงหาเงินลงทุน เพราะทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มไม่ปรับขึ้นมาก น่าจะเอื้อต่อการออกหุ้นกู้เอกชนด้วยต้นทุนการระดมทุนที่ไม่แพงมากนัก สำหรับผู้ออม ทางเลือกการออมที่เสนอผลตอบแทนจูงใจ อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง หุ้นกู้เอกชนที่มีฐานะการเงินมั่นคง กองทุนรวมต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้ออมเงิน ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปยังมีแนวโน้มยืนที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน