ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ประกาศผลประกอบการ (ก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 1/2553 ปรากฏว่า มีกำไรสุทธิ 2.83 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้น 28.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ 18.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ตลอดจนสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ อันสะท้อนอานิสงส์จากภาพรวมเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองออกไปในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงด้านการเมืองอาจมีผลลดทอนปัจจัยบวกของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับรู้ผลบวกดังกล่าวต่อความสามารถในการทำกำไรได้อย่างเต็มที่ ผ่านการชะลอตัวของความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชน โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจท่องเที่ยว บริการที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค้าปลีกในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ชุมนุม เช่นเดียวกับการบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อรายย่อย อาทิ การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ก็น่าจะลดความสดใสลงเช่นกัน ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ผนวกกับโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์อาจเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียโอกาสการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในช่วงสั้นๆ) อาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับทั้งปี 2553 มีโอกาสปรับตัวลดลงต่ำกว่าในไตรมาส 1/2553 ขึ้นกับระดับความรุนแรงและยืดเยื้อของปัญหาทางการเมือง
กระนั้นก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงทางการเมืองที่ยากจะคาดเดาว่าจะยุติลงเมื่อใดและในรูปแบบใด คาดว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งคงจะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวและผลกระทบต่อธุรกิจของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางการเงินจากวิกฤตการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ลูกค้าดังกล่าวจะเลื่อนชั้นลงไปเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลไปได้พร้อมๆ กัน นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์คงเร่งเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่อง จัดทำแผนฉุกเฉินสำรอง (BCP) เพื่อลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ตลอดจน จัดทำ Stress Test โดยเฉพาะสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์อันไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนปัจจุบัน จะอยู่ในระดับสูงกว่า 15% ต่อสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งถือว่ามีความมั่นคงมาก ก็ตาม
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น