Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2553

ตลาดการเงิน

คาดเฟดคงดอกเบี้ย เพื่อรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2811)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบที่ 3 ของปีในวันที่ 27-28 เมษายน 2553 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม โดยในแถลงการณ์หลังการประชุม เฟดน่าจะระบุถึงมุมมองในเชิงที่เป็นบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังเครื่องชี้ที่สำคัญในระยะหลังเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายของเฟดน่าจะยังมีความจำเป็นอยู่ ภายใต้ภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังเอื้อให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบันต่อไปได้อีกอย่างน้อยก็เกือบตลอดระยะที่เหลือของปีนี้

แม้การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ประกอบกับมีโอกาสสูงที่เฟดจะไม่ถอดถอนถ้อยแถลงที่ระบุว่า ;สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจน่าที่จะยังเอื้อให้อัตราดอกเบี้ยยืนที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง” แต่ตลาดก็คงจะจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมที่จะบ่งชี้ว่า เฟดมีมุมมองต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกมากน้อยเพียงใด รวมถึงจะมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงจังหวะการถอยออกจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายหรือไม่ และอย่างไร

สำหรับผลการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงจะมีจำกัด เนื่องจากการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้น้ำหนักกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักมากกว่า อย่างไรก็ตาม การคงอัตราดอกเบี้ยโดยอาจจะไม่ปรับเปลี่ยนจนกระทั่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีของเฟด ในขณะที่ ธนาคารกลางเอเชียนำร่องคุมเข้มนโยบายการเงินและยังมีแนวโน้มดำเนินการเพิ่มเติมในระยะที่เหลือของปีนี้ เพื่อชะลอความร้อนแรงและหลีกเลี่ยงภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ แนวโน้มดังกล่าว คงจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่มีแนวโน้มขยับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่าเงินบาทของไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศอาจจะกดดันให้เงินบาทฉีกตัวหรือแข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมทั้งอาจทำให้เงินบาทมีช่วงของการเคลื่อนไหวที่ผันผวนกว้างขึ้น ก็ตาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน