Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2553

ตลาดการเงิน

นโยบายอัตราดอกเบี้ยไทย ... น่าจะมาถึงจุดเปลี่ยนทิศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2873)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับผ่อนคลายอย่างมากที่ร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ในการประชุมรอบที่ 5 ของปีในวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงกันกับความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ และเตรียมการณ์สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 25 สิงหาคม 2553

ทั้งนี้ ไม่ว่ามติการประชุมรอบนี้จะมีข้อสรุปออกมาเป็นเช่นไรในระหว่างสองกรณีข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จังหวะเวลาที่ห่างกันเพียง 1 รอบการประชุม หรือประมาณ 6 สัปดาห์ คงไม่มีความแตกต่างกันมากนักสำหรับการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปีข้างหน้า นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว หากเกิดขึ้น ยังเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในระบบหรือต้นทุนทางการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับตัวของตลาดการเงินในระยะถัดไป นอกจากจะขึ้นกับมติ กนง.ในการประชุมรอบนี้แล้ว คงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณของ กนง.ถึงความต่อเนื่องในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะมีมากน้อยเพียงใดในระยะที่เหลือของปี รวมไปถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ของนักลงทุน ขณะที่ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมสำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น คงจะอยู่ที่ความสามารถในการขยายสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินโดยการดูดซับสภาพคล่องผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ ของทางการ โดยมองว่า หาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็คงจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมตาม แต่จังหวะเวลาและขนาดการปรับขึ้นนั้น คงจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน และการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบของทางการเป็นสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน