Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กรกฎาคม 2553

ตลาดการเงิน

กนง.หมุนขั้วนโยบายการเงิน..ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับปกติ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2878)

คะแนนเฉลี่ย

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 1.50 ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และตลาดการเงินก็ได้เริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์ถึงผลการประชุมในรอบนี้ไปล่วงหน้าแล้วในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยในส่วนของเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาทดสอบระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวขึ้นในทุกช่วงอายุเช่นกัน

ทั้งนี้ หากทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท.มีความต่อเนื่องในช่วงการประชุมที่เหลือของปี ขณะที่ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินทั้งในและต่างประเทศเป็นไปตามที่ประเมินไว้ คาดว่า สัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. และธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชีย น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่ โครงสร้างของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจแบนราบลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นในขนาดที่มากกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะยาว

สำหรับการประเมินภาพในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าธปท.ได้เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วในการประชุมรอบนี้ แต่สภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังคงสูงถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาทอาจส่งผลให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของธปท.ไปยังภาคเศรษฐกิจจริงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า น่าที่จะทำให้สัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท.มีความต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ (โดยเครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 2.00 ภายในสิ้นปี 2553นี้) ดังนั้น คงต้องจับตาแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะขยับขึ้นสู่ระดับประมาณร้อยละ 2.0 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และอาจเร่งตัวต่อเนื่องสู่ระดับที่สูงกว่าร้อยละ 3.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 นอกจากนี้ ยังอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ สภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อ และการระดมเงินฝาก ซึ่งก็จะมีความเชื่อมโยงไปกับความราบรื่นของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าหลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศเพิ่งจะผ่านพ้นไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน