Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2553

ตลาดการเงิน

สินเชื่อที่อยู่อาศัยครึ่งแรก ปี 2553 : เติบโตพร้อมกับการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ … ครึ่งปีหลังสถาบันการเงินปรับกลยุทธ์สู้ดอกเบี้ยขาขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2905)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่หมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2553 โดยที่ผ่านมาผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้เร่งตัดสินใจซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของสถาบันการเงินเช่นกัน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้จัดทัพผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลายไปด้วยอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าเลือกตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อในแต่ละเดือน พร้อมบริการเสริมต่างๆ กันอย่างเข้มข้นและคึกคัก เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหันมาเลือกใช้บริการของตน จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 มีมูลค่าประมาณ 1,841,839 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.5 เพิ่มขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 7.0 ในช่วงครึ่งแรกของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2552

สำหรับแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระยะที่เหลือของปี 2553 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากสถาบันการเงินต้องเผชิญกับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่อาจจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยน่าจะถูกดูดซับไปเป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี และความเสี่ยงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูงแล้ว สถาบันการเงินคงจะต้องเผชิญกับปัจจัยที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ภายใต้ตลาดที่ไร้ปัจจัยหนุนในเรื่องของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มปรับขึ้น ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาจส่งผลต่อผู้บริโภคที่พึ่งพาสินเชื่อสถาบันการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัย

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,871,800 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ามูลค่าสินเชื่อในไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากในไตรมาสที่ผ่านมา โดยคาดว่ามูลค่ายอดคงค้างในไตรมาส 3 นี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 29,960 ล้านบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน