Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กันยายน 2553

ตลาดการเงิน

การประชุม 21 ก.ย. … คาดเฟดคงดอกเบี้ย พร้อมผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มหากจำเป็น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2932)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่ 6 ของปีในวันที่ 21 กันยายน 2553

ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจหลักของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราการว่างงาน ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและยังเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย คาดว่าจะทำให้เฟดยังมีความยืดหยุ่นในการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2554 เป็นอย่างน้อย ขณะที่ แม้ว่ามติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าแล้ว แต่ตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศคงจะจับตาแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะบ่งชี้ว่าเฟดมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯในเชิงบวกหรือลบมากน้อยเพียงใดอย่างใกล้ชิด สำหรับมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดอาจเลือกที่จะยังไม่ประกาศใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องอีกในระยะใกล้ หลังจากที่เพิ่งดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อรักษาขนาดงบดุลให้คงที่ไปในการประชุมรอบที่แล้ว โดยเฟดน่าจะรอดูพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี เฟดคงระบุว่าพร้อมที่จะดำเนินการผ่านเครื่องมือด้านต่างๆ เมื่อถึงคราวที่จำเป็นในอนาคตต่อไป

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กระแสเงินทุนต่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง (หลังการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐฯเป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายอย่างมากแล้ว ซึ่งทางการสหรัฐฯอาจเริ่มเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นหากจะดำเนินการเพิ่มเติมอีก) จะยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทางการไทย เพราะนอกจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทแล้ว การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) คงจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงประเด็นค่าเงินบาทที่มีผลต่อความเสี่ยงทั้งสองด้านผ่านทางการส่งออกและแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่อาจมีแนวโน้มชะลอลง ตลอดจนผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดเงินและตลาดทุนไทยอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน