Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กันยายน 2553

ตลาดการเงิน

ตลาดหุ้นเอเชียและไทย: แม้ปรับขึ้นต่อได้ แต่ก็เผชิญหลากประเด็นที่ต้องจับตา (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2938)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงปีที่ผ่านมา สภาพคล่องหรือกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ นับว่ามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก โดยความแตกต่างของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจากภูมิภาคต่างๆ และโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นเหตุผลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง

หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงไปที่การลงทุนในตลาดหุ้น จะพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีการปรับตัวขึ้นในอัตราที่สูง โดยจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2553 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 30% ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศแถบเอเชีย (ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี SET ปรับขึ้นมากสุดเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับว่าปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เป็นปัจจัยที่หนุนให้ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลตอบแทนยังอยู่ในแดนลบ จากความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Market: DM) อาทิ ภาวะวิกฤตหนี้ในภูมิภาคยุโรป และความกังวลต่อการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่อง (Quantitative Easing) ได้ส่งผลให้สภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียและหนุนให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นไปได้อีก อันเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า รวมทั้งยังมีปัจจัยด้านฤดูกาลจากการซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ระดมเงินผ่านกองทุน LTF/RMF ช่วยหนุน นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบอัตราส่วนมูลค่าตลาด พบว่า ณ ปัจจุบัน อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นยังอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดในอดีต อีกทั้งความสามารถในการทำกำไรก็ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น สอดคล้องกับการที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ปรับมุมมองดีขึ้นต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นมีโอกาสของการปรับฐานด้วยเช่นกัน โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาคือ การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของทางการในภูมิภาคเอเชีย การคาดการณ์ถึงจังหวะการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนประเด็นการเมืองในประเทศที่อาจมีผลกับเสถียรภาพของรัฐบาลและของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองและความรู้สึกของนักลงทุนต่างประเทศในการนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน