Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2553

ตลาดการเงิน

แม้กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.75%...แต่ดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2963)

คะแนนเฉลี่ย

การคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสองของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กลายเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความปั่นป่วนให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งก็ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ต่างก็ต้องแบกรับภาระการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของเอเชียที่ซับซ้อนขึ้นภายใต้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อาจทำให้ธนาคารกลางเอเชียหลายแห่งต้องการเครื่องมือเฉพาะมาช่วยรับมือกับการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติ เพื่อรักษาความเป็นอิสระของนโยบายดอกเบี้ยในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ก็นับเป็นย่างก้าวสำคัญที่มีความน่าสนใจ และอาจเป็นตัวอย่างของการวางแนวทางเชิงนโยบายการเงินเพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสำหรับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่อาจต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายจากมาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลายของเฟดในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามคาด อย่างไรก็ดี จากประมาณการอัตราเงินเฟ้อของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า แรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการทยอยปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงรออยู่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจทำให้ธปท.มีความจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแลเสถียรภาพทางด้านราคาอันเป็นภารกิจหลักของธปท. ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่อาจต้องแบกรับภาระการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดทำให้การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็อาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางเอเชียและธปท.จำต้องพิจารณาใช้มาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อให้ธนาคารกลางเหล่านี้สามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิผลในการดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน