Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 พฤศจิกายน 2553

ตลาดการเงิน

การประชุม 2-3 พ.ย. … คาดเฟดคงดอกเบี้ย และแถลงรายละเอียด QEII (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2975)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2553 พร้อมทั้งแถลงถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QEII) เพิ่มเติม (แม้จะด้วยเสียงที่อาจไม่เป็นเอกฉันท์) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าเฟดน่าจะเลือกดำเนินมาตรการ QEII อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจมีการระบุถึงวงเงินและกรอบระยะเวลาการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเบื้องต้น แต่เปิดกว้างสำหรับการดำเนินการเพิ่มเติมในระยะถัดไปหากเห็นว่าจำเป็น ดังเช่นกรณีการดำเนินการ QEI เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและไม่ให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดผลกระทบทางลบต่อตลาดการเงินในภาพรวม

ทั้งนี้ เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินมาตรการ QEII ของเฟด เป็นสิ่งที่ตลาดเงินและตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วพอสมควร ฉะนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการปรับตัวของตลาดในระยะสั้น คงจะอยู่ที่แถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ตลอดจนขนาดและกรอบระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ QEII ว่าจะมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใดไปจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วนในระยะถัดไปนั้น พัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ จะยังคงเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของเฟด มุมมองของนักลงทุน รวมถึงแนวโน้มความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลก

ต้องยอมรับว่า แม้เฟดจะดำเนินมาตรการ QEII แต่ประสิทธิผลที่จะสะท้อนผ่านการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯในเวลาอันรวดเร็ว คงจะคาดหวังได้ค่อนข้างจำกัด นั่นหมายความว่า สภาวะความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลกที่นำโดยสหรัฐฯ จะยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปอย่างน้อยอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียและสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ในขณะเดียวกัน การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของเฟด ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ ก็อาจนำมาสู่โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากขึ้นในระยะปานกลางถึงระยะยาว อันเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามเงินดอลลาร์ฯที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ฉะนั้น นานาประเทศ รวมถึงทางการไทย คงจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายและสร้างความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายในระยะถัดไป เพื่อรักษาสมดุลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศผ่านการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ควบคู่กับนโยบายการคลังที่เหมาะสม ในขณะที่ภาคเอกชนก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเตรียมแผนการรับมือทั้งในระยะสั้นและยาว ท่ามกลางสภาวะที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงปีข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน