Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 ธันวาคม 2553

ตลาดการเงิน

การประชุม 14 ธ.ค. … คาดเฟดคงดอกเบี้ย แต่ยังต้องจับตาผลของ QE2 และนโยบายภาษี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3004)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ตามเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 14 ธันวาคม 2553 พร้อมๆ กับการคงมุมมองในเชิงที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ขณะเดียวกันก็คงระบุถึงความพร้อมที่จะประเมินประสิทธิผลของการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสอง (QE2) โดยเปิดกว้างสำหรับการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความจำเป็น

ทั้งนี้ แม้จะเป็นที่คาดการณ์ว่านโยบายการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก หลังรัฐบาลโอบามาสามารถบรรลุข้อตกลงในการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีหลายรายการที่ดำเนินการในสมัยอดีตประธานาธิบดีบุช ซึ่งแผนการลดหย่อนภาษีที่เน้นการบรรเทาปัญหาการว่างงานและเรียกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนของรัฐบาลสหรัฐฯ ดังกล่าว น่าจะสามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสได้ภายในปี 2553 นั้น คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับศักยภาพ พร้อมๆ กับดึงให้อัตราการว่างงานลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 9.0 ได้ในปี 2554 อันจะส่งผลตามมาให้เฟดมีความจำเป็นน้อยลงในการเพิ่มขนาด/ขยายเวลามาตรการ QE2 จากที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายการเงินและการคลังของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายอย่างมากแล้วข้างต้น อาจสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่อาจมีแนวโน้มมาถึงในจังหวะเวลาที่เร็วกว่าคาด และสร้างความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการที่ทางการสหรัฐฯ อาจมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมอีกโดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วดังที่คาดหวังไว้

ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูง การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างมากของทางการสหรัฐฯ อาจสร้างแรงกดดันให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงราคาสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าโดยเปรียบเทียบ มีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนในทิศทางขาขึ้น อย่างไรก็ดี มีโอกาสเช่นกันที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศจะพลิกผันและปรับทิศกลับไปสู่การลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯ ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดและนำมาสู่การคาดการณ์ถึงจังหวะเวลาของการถอนมาตรการ QE2 ของเฟดที่เร็วกว่ากำหนด นอกจากนี้ พัฒนาการของความเสี่ยงจากปัญหาหนี้และภาคธนาคารของบางประเทศในยุโรป รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายคุมเข้มมากขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียที่นำโดยจีน ยังเป็นตัวแปรที่อาจมีอิทธิพลต่อมุมมองของนักลงทุน กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนในแต่ละขณะอีกด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ทางการไทยคงจะต้องคำนึงและชั่งน้ำหนักถึงส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ นโยบายเชิงคุณภาพ และนโยบายการคลังที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อรับมือกับสภาวะความผันผวนดังกล่าว และประคับประคองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาวะที่โมเมนตัมการขยายตัวมีแนวโน้มอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน