Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มีนาคม 2554

ตลาดการเงิน

การประชุม 9 มี.ค. ... คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3058)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 มาที่ร้อยละ 2.50 ในการประชุมรอบที่ 2 ของปีในวันที่ 9 มีนาคม 2554 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ที่ความเสี่ยงจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อยังคงมีน้ำหนัก ขณะที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งของการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ด้วยอัตราการเติบโตที่ชะลอลง นอกจากนี้ จากประสบการณ์ราคาน้ำมันแพงในปี 2551 ประกอบกับ สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกแม้ฟื้นตัวมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังผ่านพ้นวิกฤต แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่พอสมควรจากปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ก็น่าที่จะเกิดขึ้นด้วยท่าทีที่ระมัดระวังหรือค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธุรกิจเอกชนสามารถรับมือกับสภาวะที่ราคาสินค้าต่างๆ และต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นนี้ได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไปนัก

เนื่องจากมติการประชุมรอบนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ตลาดการเงินส่วนใหญ่คาดหมายไว้แล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้น จุดสนใจของตลาดและนักวิเคราะห์คงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ว่าจะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด (โดยเฉพาะความเห็นของสมาชิก กนง.ที่จะมีการเปิดเผยออกมาในรายงานผลการประชุมอีก 2 สัปดาห์ถัดไป) รวมทั้งขึ้นอยู่กับพัฒนาการเครื่องชี้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าความคืบหน้าของสถานการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่จะมีผลต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก นโยบายด้านพลังงานของทางการไทย และประเด็นการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในที่สุดแล้วคงจะนำมาสู่การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ โดยขนาดและจังหวะของการปรับขึ้น คงจะขึ้นอยู่กับมุมมองของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่มีต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการขยายสินเชื่อในระยะข้างหน้า ตลอดจนความเข้มข้นของการแข่งขันระหว่างธนาคารด้วยกันเองและคู่แข่งอื่นเป็นหลัก ซึ่งภาวะดังกล่าว น่าที่จะเอื้อให้ผู้ออมมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายและตอบโจทย์ได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อในสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อาทิ สินค้าคงทนบางรายการ ซึ่งผู้กู้อาจชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปตามสถานการณ์และความจำเป็นของตน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน