Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2554

ตลาดการเงิน

การประชุม 15 มี.ค. 2554 … คาดเฟดคงดอกเบี้ย และ QE2 แต่การดำเนินนโยบายในระยะถัดไปอาจเผชิญความท้าทาย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3060)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้แถลงการณ์หลังการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจระบุถึงมุมมองที่เป็นเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เฟดคงจะมีท่าทีที่ระมัดระวังโดยมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ 0.00-0.25% และคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE2) ตามกำหนดเดิมในการประชุมรอบที่สองของปีในวันที่ 15 มีนาคม 2554 โดยมองว่า คงเร็วเกินไปที่เฟดจะปรับเปลี่ยนจุดยืนเชิงนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานะของผู้บริโภคสหรัฐฯ อันจะกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจในระยะถัดไป นอกจากนี้ แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากระดับที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน แต่การส่งผ่านจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอาหารไปสู่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ก็ยังน่าที่จะต้องใช้เวลา ดังนั้นโดยรวมแล้ว ภายใต้สภาวะดังกล่าวนี้ ก็น่าจะเอื้อให้เฟดคงจุดยืนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากไว้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ แม้มติการประชุมของเฟดในรอบนี้คงจะไม่ได้เปลี่ยนภาพการประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งไม่น่าจะมีผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนในกรอบสูง (หลังจากที่อ่อนตัวลงบ้างในระยะนี้จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่แน่ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาได้อย่างยั่งยืนและมากน้อยเพียงใด) อาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ในระยะถัดไป และทำให้เฟดจำต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับผลต่อไทยนั้น แม้จะมีมุมมองที่ยังค่อนข้างระมัดระวังต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 (หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ยังคงเห็นว่า ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางการไทยคงจะยังให้น้ำหนักหลักไปที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากระดับปัจจุบันที่ 2.50% เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามปัจจัยอีกหลายประการที่อาจมีผลต่อน้ำหนักความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันตลาดโลก นโยบายด้านพลังงานและสินค้าเกษตรของรัฐบาล รวมถึงความคืบหน้าของประเด็นการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน