Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มกราคม 2555

ตลาดการเงิน

การประชุม 25 ม.ค. 2555 … คาด กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เพื่อดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3235)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) คงจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 3.25% มาอยู่ที่ 3.00% ในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 25 มกราคม 2555 นี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า กนง.คงจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่การฟื้นกลับสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่ยังต้องใช้เวลา รวมทั้งความเสี่ยงภายนอกประเทศจากปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่อาจจะลุกลามไปสู่ประเทศแกนหลักและภาคธนาคารที่มีความเชื่อมโยงกันสูง โดยยังคงมีความซับซ้อนของปัญหา และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจในยูโรโซนอาจประสบกับภาวะถดถอย ขณะที่สถาบันการเงินในยุโรปก็อาจจำเป็นต้องลดขนาดสินทรัพย์ (Deleveraging) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อหรือถึงขั้นเลวร้ายจนยากเกินควบคุม ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน ไม่เว้นแม้กระทั่งไทย

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่พัฒนาการของวิกฤตหนี้ในยูโรโซน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ยังยากที่จะประเมินได้อย่างชัดเจน ณ ขณะนี้ ผนวกกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในประเทศที่ยังรอเพิ่มแรงกดดันในระยะถัดไป (ผ่านนโยบายด้านพลังงานและค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แกว่งตัวอยู่ในเกณฑ์สูง) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ในรอบการประชุมที่จะถึงและตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ คงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ กนง. โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการหาจุดสมดุลหรือจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการสื่อสารถึงจุดยืนด้านนโยบายในการให้น้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชัดเจน เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์นั้น นอกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว คงจะขึ้นอยู่กับการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจหลักทั้งในตลาดสินเชื่อและเงินออมภายใต้สภาวะการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง ตลอดจนคงต้องติดตามประเด็นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ อาทิ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั๋วแลกเงิน และข้อสรุปประเด็นการจัดสรรเงินสมทบจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชดเชยภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน