Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2555

ตลาดการเงิน

การประชุม 2 พ.ค. 2555 … คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 3.00% เพื่อดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3276)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ในการประชุมรอบที่สามของปีในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 นี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักอยู่ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจหลักในโลก และแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในประเทศจากภาวะค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตสะสมที่ปรับตัวขึ้น

มองไปข้างหน้า คาดว่า กนง.คงจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะความรวดเร็วและต่อเนื่องของการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย ผลกระทบรอบสอง (Second-round effects) หรือกลไกการส่งผ่านของระดับราคาสินค้าจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและค่าจ้างแรงงาน เพื่อประเมินน้ำหนักความเสี่ยงหลักก่อนที่จะตัดสินใจนโยบายการเงินที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งคงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะสร้างความท้าทายมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ในระยะถัดไป เพราะมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเร่งตัวเข้าสู่ 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3.0%

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตาม คงจะได้แก่ การครบกำหนดวาระของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ ตลอดจน แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม (QE3) รวมไปถึงมุมมองต่อมาตรการการซื้อตราสารเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวภายใต้โครงการ The Maturity Extension Program (Operation Twists) ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2555 อันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และส่งผลไปยังตลาดพันธบัตรทั่วโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย ผ่านการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในแต่ละประเทศ รวมไปถึงกระแสการเคลื่อนย้ายของเงินทุนทั่วโลก

สำหรับภาพรวมอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าจะมีระดับที่ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกการแข่งขันเพื่อรักษาฐานลูกค้า และการสะสมสภาพคล่องเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่ให้ผลตอบแทนจูงใจและแข่งขันได้กับช่องทางการออมอื่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ คงต้องติดตามประเด็นหลักเกณฑ์การกำหนดฐานการคำนวนเงินสมทบจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชดเชยภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะมีผลต่อกลยุทธ์ในการจัดสรรสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน