Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กรกฎาคม 2555

ตลาดการเงิน

การประชุม 25 ก.ค. 2555 … คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 3.00% พร้อมเฝ้าระวังความเสี่ยงเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากภายนอกประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3320)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ในการประชุมรอบที่ 5 ของปีในวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 นี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ความเสี่ยงในการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากประเด็นด้านการคลังทั้งมาตรการภาษีที่จะสิ้นสุดลงและแผนตัดลดงบประมาณอัตโนมัติ ซึ่งอาจส่งผลทางลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ (Fiscal Cliff) รวมไปถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งตัวสูงในเวลาอันใกล้นี้ ทำให้ กนง.พอจะมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

แม้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายธนาคารกลางสำคัญในโลกมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงเข้าซื้อตราสารเพิ่มเติม เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า โอกาสที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น ยังมีจำกัด ภายใต้ภาพการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยของเศรษฐกิจไทยที่ทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ และเศรษฐกิจไทยก็น่าที่จะสามารถรักษาแรงส่งของการขยายตัวไว้ได้ในระยะที่เหลือของปี จากแรงขับเคลื่อนด้านการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง ซึ่งขณะนี้มีค่าติดลบอยู่นั้น ก็สะท้อนว่าจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ กนง.ในปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่ยังเอื้อต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้วในระดับหนึ่ง

ขณะที่ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าแล้ว ยังคงมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อในประเทศจะปรับสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี จากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การสิ้นสุดของมาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ และการส่งผ่านต้นทุนการผลิตไปยังราคาสินค้าทั่วไปของผู้ประกอบการ นอกเสียจากว่าความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศจะเพิ่มขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในกรณีนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจพิจารณาทบทวนจุดยืนเชิงนโยบายเพื่อความเหมาะสมต่อไป

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม นอกจากพัฒนาการเศรษฐกิจหลักในโลก และความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปแล้ว คงจะได้แก่ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ที่แม้คงยากจะประเมินถึงประสิทธิผลทางเศรษฐกิจ แต่ย่อมส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลก ด้านปัจจัยในประเทศนั้น ประเด็นการเมือง และการใช้จ่ายของภาครัฐ จะยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน ในขณะเดียวกัน ความต่อเนื่องของการเบิกจ่ายและความต้องการระดมทุน คงจะมีผลต่อแนวโน้มสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน