Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กรกฎาคม 2555

ตลาดการเงิน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)…อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนน้องใหม่ในตลาดทุน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3319)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 54 ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้กิจการที่ดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอันครอบคลุมกิจการ 10 ประเภทสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้ ประกอบด้วยกิจการระบบขนส่งทางราง ประปา ท่าอากาศยานหรือสนามบิน โทรคมนาคม ระบบบริหารจัดการน้ำ/การชลประทาน ไฟฟ้า ถนน/ทางพิเศษหรือทางสัมปทาน ท่าเรือน้ำลึก พลังงานทางเลือก และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยมีวงเงินระดมทุนขั้นต่ำกองทุนละ 2,000 ล้านบาท ยกเว้นบางประเภทกิจการ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคงช่วยตอบโจทย์ในแง่ของการลดหรือแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดหางบประมาณและก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำมาใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทในอีก 5-7 ปีข้างหน้า ซึ่งทางการไทยมีแผนที่จะอาศัยแหล่งเงินทุนจากการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) ร่วมด้วย

สำหรับในมิติเจ้าของกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคงจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุนแทนการก่อหนี้และยังคงดำรงสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ขณะเดียวกันในมิติของนักลงทุน การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีความสามารถในการลงทุนได้ในระยะเวลาปานกลางถึงยาวและยอมรับความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงอย่างไรก็ดี นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดของโครงการและนโยบายกองทุนรวมฯ ที่สนใจลงทุน รวมถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากแต่ละกิจการย่อมมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป รวมถึงพิจารณาประเภทรูปแบบการลงทุน Greenfield Project (การลงทุนในโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ) และ Brownfield Project (โครงการที่แล้วเสร็จ) ด้วย

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความสำเร็จของการออกกองทุนรวมฯ ในแง่เม็ดเงินที่ระดมได้และผลการตอบรับจากนักลงทุนนั้น นอกจากจะขึ้นกับส่วนผสมที่ลงตัวของตัวกลางทางการเงินในฐานะผู้ผลักดันการจัดตั้งและกระบวนการต่างๆ ในภาพรวมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาในการเสนอขายที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้การผลักดันการระดมทุนทางเลือกน้องใหม่ประเภทนี้เติบโตอย่างยั่งยืน ทางการไทยและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องสานต่อมาตรการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความรู้และเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุน เพื่อขยายฐานนักลงทุนศักยภาพให้กว้างขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่จะช่วยให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถสร้างประโยชน์และตอบสนองความต้องการทั้งในผู้ระดมทุน นักลงทุน และภาพรวมประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน