Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2555

ตลาดการเงิน

คาด กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในช่วง 1-2 ไตรมาสข้างหน้า หากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3381)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% หลังจากที่ กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมรอบที่ 7 ของปีในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 เพื่อเป็นหลักประกันให้การขยายตัวของเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจหลักในโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อคลายตัวลงส่วนหนึ่ง ทำให้ กนง.ยังพอมีช่องว่างสำหรับการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี หาก กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และเลือกที่รอติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็มีโอกาสเช่นกันที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยเฉพาะถ้าสัญญาณการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นตามที่คาด จากความเปราะบางของเศรษฐกิจหลักในโลก ขณะที่ คงจะต้องติดตามแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ภายใต้แรงหนุนจากนโยบายการเงินและการคลังในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต่อๆ ไปไว้ได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ในที่สุดแล้ว มติการประชุมวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่จะมาถึง คงจะอยู่ระหว่างการตัดสินใจปรับลดหรือการคงอัตราดอกเบี้ย อันขึ้นกับวิจารณญาณของคณะกรรมการนโยบายการเงินแต่ละท่านที่อาจจะมีการให้น้ำหนักความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างกัน อันทำให้มีโอกาสที่ผลการลงมติจะออกมาเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องจากการประชุมรอบก่อนหน้า ถึงแม้ว่ามุมมองด้านเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันจะเป็นระดับที่ค่อนข้างสมดุลแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี โดยรวมเชื่อว่า กนง.คงจะชั่งน้ำหนักถึงปัจจัยแวดล้อมรอบด้านอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบที่สุด

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากพัฒนาการด้านเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะจากประเด็นการเมือง ที่ทุกฝ่ายคงติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่น บรรยากาศการใช้จ่าย-ลงทุน และการดำเนินนโยบายของทางการได้ จุดสนใจในระยะถัดไป คงจะอยู่ที่การปรับตัวของระดับราคาสินค้า ซึ่งนอกจากจะผูกโยงกับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการส่งผ่านต้นทุนการผลิตสะสมที่เพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ตลอดจนความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาค่าครองชีพและการชะลอการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของรัฐ เพราะคงต้องยอมรับว่า กนง.อาจต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในอนาคตถ้าสัญญาณเชิงลบทางเศรษฐกิจยังคงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน