Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2556

ตลาดการเงิน

พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท: ผลกระทบต่อสภาพคล่องและดอกเบี้ย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2344)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการประเมินผลกระทบของการกู้เงินจากภาครัฐ ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... มูลค่าวงเงินรวมไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ต่อสภาพคล่องในรูปเงินบาทและทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดการเงินไทยในระยะสั้นเฉพาะปี 2556-2557 ดังนี้

การเข้าสู่กระบวนการระดมเงินทุนของภาครัฐ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2556 - 2557 ผนวกกับการกู้เงินภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น คงเป็นไปในลักษณะทยอยกู้เงินแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ การกู้ยืมสำหรับโครงการ 2 ล้านล้านบาท คงเข้าสู่กระบวนการระดมทุนอย่างเร็วที่สุดภายในไตรมาส 4/2556 ด้วยวงเงินตามแผนใช้จ่ายราว 30,000 ล้านบาท และจะทยอยระดมเงินทุนอย่างเข้มข้นขึ้นในช่วงปี 2557 เป็นต้นไป จนถึงกรอบท้ายสุดของโครงการในปี 2563 ขณะที่ โครงการบริหารจัดการน้ำจะทยอยเข้าสู่กระบวนการระดมทุนและเบิกใช้จริงในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้นของทั้ง 2 โครงการข้างต้น คาดว่าความต้องการสภาพคล่องส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในรูปเงินบาท และคงยังเข้าสู่กระบวนการระดมทุนไม่มากนัก เนื่องจากยังรอกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการย่อยต่างๆ ในทางปฏิบัติ เพื่อรองรับการจัดการพื้นที่และการก่อสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเริ่มโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้นในขั้นตอนถัดไป ทำให้คาดว่า การเข้าระดมทุนของภาครัฐภายใต้ 2 โครงการดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ความต้องการสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในช่วงปี 2556 - 2557 เพิ่มขึ้นจากระดับปกติราว 3.5 แสนล้านบาท และคงมีผลกระทบต่อสภาพคล่องของระบบการเงินไทยให้ตึงตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะกดดันตลาดอย่างรุนแรงจนทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดให้พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการเข้าระดมทุนของภาครัฐต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน คงต้องประเมินเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะมีอิทธิพลต่อความต้องการสภาพคล่องจากภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ตลอดจนปริมาณอุปทานสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าความต้องการสภาพคล่องจากภาครัฐที่คงมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับแนวทางการประกาศแผนการก่อหนี้ของภาครัฐล่วงหน้า น่าจะทำให้ตลาดโดยเฉพาะสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน สามารถบริหารจัดการและวางแผนสภาพคล่องของตนล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเช่นกัน นอกจากนี้ การที่ธปท.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการระดมทุนของภาครัฐไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการยกเลิกการออกพันธบัตรระยะยาว ลดวงเงินพันธบัตรระยะกลาง และเน้นการออกพันธบัตรระยะสั้นแทนนั้น คงทำให้การบริหารสภาพคล่องผ่านพันธบัตรของ ธปท.เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินไทย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็น่าจะช่วยคลายความกังวลต่อโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยตลาดการเงินจะถีบตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อการกู้ยืมของภาคครัวเรือน ธุรกิจ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศลงได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน