อ่อนค่าหลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่หุ้นร่วง"" /> "บาท<WBR>อ่อน<WBR>ค่า<WBR>หลัง<WBR>แบงก์<WBR>ชาติ<WBR>ขึ้น<WBR>ดอก<WBR>เบี้ย ขณะ<WBR>ที่<WBR>หุ้น<WBR>ร่วง" - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2548

สถาบันการเงิน

"บาทอ่อนค่าหลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่หุ้นร่วง"

คะแนนเฉลี่ย

"บาทอ่อนค่าหลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่หุ้นร่วง"

ตลาดเงิน

ในช่วงต้นสัปดาห์ อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่นักลงทุนชะลอการประกอบธุรกรรมเพื่อรอการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทยในการประชุมกลางสัปดาห์ โดยเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วัน จาก 2.00% มาเป็น 2.25% อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินได้ปรับสูงขึ้นตามในช่วงปลายสัปดาห์ แต่ด้วยขนาดการปรับขึ้นที่ไม่มากนัก เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.เป็นไปตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่ของตลาด ทั้งนี้ อัตรากลางของอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ (Mode) ขยับขึ้นจาก 1.85% ในช่วงต้นสัปดาห์ มาเคลื่อนไหวระหว่าง 1.9375-2.0% ในช่วงปลายสัปดาห์ ในทิศทางที่สอดคล้องกัน อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 1 และ 7 วัน มีระดับปิดที่สูงขึ้นจาก 1.65625% และ 1.90625% ในช่วงต้นสัปดาห์ มาอยู่ในช่วง 1.8125-1.9375% และ 2.0625-2.15625% ในช่วงปลายสัปดาห์ ตามลำดับ โดยมีธุรกรรมประเภท 1 เดือนที่ระดับ 2.25% ในช่วงปลายสัปดาห์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาด้วย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดสัปดาห์ที่ 4.03% เพิ่มขึ้นจาก 4.00% ปลายสัปดาห์ก่อน ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ 4.39% ในวันพฤหัสบดี ปรับขึ้นจาก 4.27% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเภทระยะสั้น ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในการประชุมวันพุธ ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระหว่างสัปดาห์ปรับลดลง จากปริมาณอุปทานตราสารระยะยาวที่มีแนวโน้มลดลง ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับสูงขึ้น อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดของดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core Personal Consumption Expenditure price index) ในเดือนมกราคม และจากการเปิดเผยผลสำรวจภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในรัฐชิคาโกและนิวยอร์ก จากนั้น อัตราผลตอบแทนก็ค่อยๆ ปรับขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนไม่ต้องการทำธุรกรรมใหม่ก่อนการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ นอกจากนี้ แม้ว่าดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing index) เดือนกุมภาพันธ์จะออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่การเปิดเผยดัชนีภาคการบริการที่ปรับขึ้นโดยเฉพาะในองค์ประกอบด้านการจ้างงาน ก็ได้สนับสนุนให้ตลาดเพิ่มความคาดหวังต่อตัวเลขการจ้างงานที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งอัตราผลตอบแทนอาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีกหากตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้

ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากวันศุกร์ก่อนหน้า มาเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการแข็งค่าของเงินเยน/ดอลลาร์ฯและค่าเงินในภูมิภาค หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาแข็งแกร่งสวนทางกับข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/47 ที่น่าผิดหวังจากตลาดสหรัฐฯ (ซึ่งประกาศในวันศุกร์ก่อนหน้า) สำหรับในวันพุธ เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธปท.ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ระยะ 14 วันอีก 0.25% มาที่ 2.25% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินบาทที่ได้ไล่ซื้อเพื่อเก็งกำไรในช่วงก่อนมีการประชุมนโยบายการเงินดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามทิศทางของตลาดหุ้นไทย รวมทั้ง ค่าเงินเยน/ดอลลาร์ฯ และเงินในภูมิภาคที่อ่อนแรงลง ก่อนการประกาศข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะออกมาดี โดยในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2548 เงินบาทมีค่าเฉลี่ยที่ 38.497 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 38.390 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

หมายเหตุ เป็นค่าเฉลี่ยระหว่างการซื้อขายในช่วงบ่ายของ Reuters

ในสัปดาห์นี้ (7-11 มีนาคม 2548) ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันจันทร์ ขณะที่ปริมาณสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากพอ คงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินมีทิศทางที่ทรงตัวต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์อาจจะปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 2.00-2.15%

ค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 38.3-38.7 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทคงจะได้รับอิทธิพลจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/47 ของไทยในวันจันทร์ รวมทั้ง ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ประกาศในวันศุกร์ก่อนหน้า นอกจากนั้น ทิศทางของตลาดหุ้นไทย ยังน่าจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอีกด้วย

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยในวันจันทร์ เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นประจำเดือนมกราคมที่แข็งแกร่ง โดยขยายตัว 2.1% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 1.7% ประกอบกับ แถลงการณ์ของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ให้สัญญาณว่าการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอย่างมากในปัจจุบัน อาจสิ้นสุดลงในอนาคต ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับปัจจัยลบต่อเนื่องจากตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯ (ประกาศรอบ 2) ในไตรมาส 4/47 ขยายตัว 3.8% ซึ่งแม้จะสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6-3.7% แต่ตลาดก็หวังที่จะเห็นตัวเลขที่สูงกว่านี้ จากการให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ เริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่วันอังคาร ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะรายงานตัวเลขผู้ว่างงานประจำเดือนมกราคมที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือนเดียวกันที่เพิ่มขึ้นด้วยขนาดมากสุดในรอบ 6 เดือน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ/เยน ได้รับแรงหนุนทางอ้อม จากตัวเลขยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของออสเตรเลียที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/47 ที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้ตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ในอนาคต และมีส่วนส่งผลตามมาให้นักลงทุนระบายสกุลเงินอื่นๆ เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินยูโร และเข้าซื้อดอลลาร์ฯ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากดัชนีภาคอุตสาหกรรมและดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ไม่สดใสเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินเยนยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และข้อมูลการขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นสุทธิ (ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 กุมภาพันธ์) ของนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมาก ประกอบกับ นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ซึ่งคาดว่าจะออกมาดี และอาจส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวดเร็วขึ้นอีก สำหรับในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 105.43 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 105.23 เยน ในวันศุกร์ก่อนหน้า

หมายเหตุ เป็นค่าเฉลี่ยระหว่างการซื้อขายในช่วงบ่ายของ Reuters

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรลดช่วงบวกลง โดยแม้ว่าเงินยูโรจะขยับขึ้นได้ในวันจันทร์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และโอกาสที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ จะให้ความสนใจกระจายพอร์ตของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯลดลงนั้น ได้กดดันบรรยากาศการลงทุนในเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลางและปลายสัปดาห์ เนื่องจากข้อมูลผู้ว่างงานล่าสุดในเยอรมนี (ปรับฤดูกาล) และในฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นแตะ 11.7% และ 10% ตามลำดับ รวมทั้ง รายงานข่าวที่ธนาคารกลางยุโรปอาจปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2548 ลง 0.3% จากตัวเลขเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า มาที่ 1.6% ประกอบกับ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/47 และยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของออสเตรเลีย ออกมาอ่อนแอเกินคาด ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าว ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยของยูโรโซนอาจต้องทรงตัวต่ำเป็นระยะเวลานาน สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่ยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายอลัน กรีนสแปน ต่อสภาคองเกรสในช่วงปลายสัปดาห์ จะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีการกล่าวเน้นถึงปัญหาด้านการขาดดุลงบประมาณ แทนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แต่เงินดอลลาร์ฯ ก็ยังคงรักษาช่วงบวกไว้ได้ เนื่องจากตลาดรอการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ที่คาดว่าน่าจะออกมาดี สำหรับในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม ยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.3111 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.3197 ดอลลาร์ฯในวันศุกร์ก่อนหน้า

หมายเหตุ เป็นค่าเฉลี่ยระหว่างการซื้อขายในช่วงบ่ายของ Reuters

ภาวะตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับลง 1.57% จาก 740.04 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า มาปิดที่ 728.42 จุด แต่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ได้เพิ่มขึ้น 16.24% จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 117,050.74 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลง จาก 25,173.79 ล้านบาทของสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 23,410.15 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 206.20 จุด ปรับลง 1.91% จาก 210.22 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดแกว่งตัวในกรอบแคบๆ และขยับขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ จากการที่ไม่มีปัจจัยใหม่มากระตุ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมีผลต่อการลงทุนทั้งทางบวกและทางลบ โดยแม้ว่าราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับที่สูงจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งช่วยให้ดัชนีสามารถพยุงตัวอยู่ได้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของราคาน้ำมันต่อผลประกอบการบริษัท, การใช้จ่ายภาคเอกชน ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ก็ทำให้นักลงทุนมองว่าตลาดมีความเสี่ยงและขายทำกำไรออกมา ดัชนีปรับลงเล็กน้อยในวันต่อมาก่อนที่จะร่วงลงแรง 2.41% ในวันพุธมาปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน อันเป็นผลจากการเปิดเผยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 9 เดือน และจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 14 วัน อีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% เพื่อลดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในประเทศ การลงทุนยังถูกถ่วงจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินในประเทศอีก 60 สตางค์ต่อลิตร รวมถึงการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในวันอังคาร หลังจากที่ได้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้มีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน, แบงก์, และวัสดุก่อสร้าง ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตลาดแกว่งตัวในกรอบแคบๆ จากการที่นักลงทุนยังไม่มั่นใจในทิศทางตลาด โดยดัชนีปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงในวันพฤหัสบดีก่อนที่จะดีดขึ้นในวันศุกร์ ตามแรงซื้อกลับหุ้นกลุ่มที่ราคาได้ปรับลงไปมากโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน สำหรับการเข้าซื้อขายของหุ้นใหม่นั้น หุ้นบล. บัวหลวง (BLS) เข้าซื้อขายเป็นวันแรกในวันจันทร์ในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และปิดวันที่ 15 บาท เพิ่มขึ้น 24% จากราคาจองซื้อหุ้นละ 12 บาท


สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (7-11 มี.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดอาจจะยังคงอยู่ในช่วงปรับฐาน โดยนักลงทุนคงจะติดตามฐานะการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติและสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีคงจะมีแนวรับที่ 718-723 จุด และแนวต้านที่ 735-740 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นสหรัฐ แกว่งตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อปิดตลาดในวันศุกร์ ดัชนี DJIA ปิดที่ 10,940.55 จุด คิดเป็นการปรับขึ้น 0.91% จาก 10,841.60 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,070.61 จุด คิดเป็นการปรับขึ้น 0.25% จาก 2,065.40 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า แม้ว่าจะทะยานขึ้น 3 วันติดต่อกันในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดได้อ่อนแรงลงเมื่อเริ่มสัปดาห์ใหม่ โดยถูกกดดันจากจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและจากการที่โบรกเกอร์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส ตลอดจนการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบและสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ดัชนีกลับมาดีดขึ้นในวันต่อมา โดยได้รับแรงหนุนจากปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของหุ้นกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์และการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวก อาทิ ดัชนีการผลิตของ ISM ที่ปรับลงในเดือนก.พ. ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และตัวเลขการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. อย่างไรก็ตาม ตลาดกลับมาอ่อนแรงอีกครั้งในวันพุธ ตามการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งบดบังผลบวกจากถ้อยแถลงของนายอลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่บ่งชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดปิดแตกต่างกันในวันพฤหัสบดี โดยหุ้นกลุ่มบลูชิพปรับขึ้นได้ ตามแรงซื้อหุ้นโบอิ้ง, ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง, และตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวก อาทิ ประสิทธิภาพทางการผลิตของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดที่ 2.1% ในไตรมาส 4/47 และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงสู่ 310,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุด 26 ก.พ. 2548 อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกถ่วงโดยการร่วงลงของหุ้นบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ในวันศุกร์ ตลาดทะยานขึ้นมาปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานในเดือน ก.พ. ที่เพิ่มขึ้น 262,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือน

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อปิดตลาดในวันศุกร์ ดัชนี Nikkei ปิดที่ 11,873.05 จุด คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.84% จากปิด 11,658.25 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นโตเกียวปรับขึ้นตลอดสัปดาห์ นับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง 7 วันติดต่อกันนับจากวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2544 ที่ดัชนีพุ่งขึ้น 6.3% ในช่วง 7 วันติดต่อกัน การลงทุนได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและต่อแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวกต่างๆ อันได้แก่ ข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนม.ค. จากเดือนธ.ค. ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 1.7%, การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน, และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตลาดยังได้แรงหนุนจากมุมมองว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทของญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเหล็กกล้าและกลุ่มก่อสร้าง




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน