Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 ธันวาคม 2548

สถาบันการเงิน

"บาทแข็งสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ หุ้นไทยปิดต่ำลง"

คะแนนเฉลี่ย

"บาทแข็งสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ หุ้นไทยปิดต่ำลง"

ตลาดเงิน

สภาพคล่องในตลาดเงินมีค่อนข้างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยธนาคารพาณิชย์มีการสำรองสภาพคล่องไว้ผ่านการลงทุนส่วนใหญ่ในระยะ 1 วันก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพุธ ต่อมา เมื่อธปท.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.25% มาที่ 4.00% อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นได้ปรับตัวสูงขึ้นตาม พร้อมๆ กับที่ธนาคารพาณิชย์ก็มีการกระจายการลงทุนไปในระยะอื่นๆ มากขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมของธปท. อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 3.90-3.95% เทียบกับ 3.65-3.85% ในสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 และ 7 วัน ปิดสูงขึ้นมาที่ 3.9375% และ 3.96875% ตามลำดับ จากระดับปิดในสัปดาห์ก่อนที่ 3.71875% และ 3.75-3.78125%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ 5.44% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 5.66% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับลดลงค่อนข้างมากในตราสารประเภทอายุมากกว่า 1 ปี อันเป็นผลจากแรงซื้อพันธบัตรกลับของนักลงทุนหลังจากที่คาดว่าธปท.คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้ง เป็นผลจากความกังวลต่อปริมาณอุปทานตราสารหนี้ระยะยาวที่มีแนวโน้มลดลงด้วย ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.44% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 4.54% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการปรับขึ้นท่ามกลางการซื้อขายที่ระมัดระวังก่อนหน้าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันอังคาร แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับลดลงในวันอังคารและพุธ ภายหลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่าอาจใกล้จะยุตินโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ นอกจากนี้ การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังเป็นผลมาจากการเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าในเดือนตุลาคมของสหรัฐฯที่บันทึกยอดขาดดุลมากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปีอาจจะมีระดับที่น้อยกว่าคาด อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับขึ้นเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี โดยเป็นผลจากการรายงานตัวเลขในภาคการผลิตของสหรัฐฯที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และจากความวิตกต่อความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนจะลดลงมากกว่าคาดก็ตาม แต่ต่อมาในวันศุกร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับลดลง โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะหยุดนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงต้นปีหน้า รวมทั้งจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านพลังงานที่ผ่อนคลายลงหลังราคาน้ำมันดิบที่ตลาดล่วงหน้าปรับตัวลดลง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยในวันจันทร์ ตลาดในประเทศปิดทำการเนื่องในวันหยุดราชการ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามลำดับหลังจากนั้น เนื่องจากถึงแม้ว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันอังคาร จะนำมาสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย Fed Funds 0.25% แต่แถลงการณ์ภายหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แตกต่างจากครั้งก่อน ทำให้ตลาดตีความว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่สดใส ได้กดดันเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. 0.25% มาที่ 4.0% เป็นปัจจัยหนุนต่อเงินบาท ดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 40.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดี อันเป็นระดับแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ส่วนในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม เงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามทิศทางเงินเยน/ดอลลาร์ฯ โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 41.947 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 41.220 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ (19-23 ธันวาคม 2548) ธนาคารพาณิชย์คงจะมีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการปิดสำรองรายปักษ์ในวันพฤหัสบดี และสำหรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงเทศกาลคริสตมาสและปีใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังคงทรงตัวใกล้เคียงกรอบเดิมต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน

ค่าเงินบาท คาดว่าจะปรับตัวในกรอบ 40.80-41.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดคงจะติดตามการเปิดเผยข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 3/48 ของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าขาดดุลมากกว่าคาด ก็อาจทำให้เงินเยนยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน นอกเหนือจากข้อมูลดังกล่าวสหรัฐฯ ยังจะประกาศข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤศจิกายน จีดีพีไตรมาส 3/48 (ทบทวนครั้งสุดท้าย) และรายได้ส่วนบุคคลเดือนพฤศจิกายน

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินเยนแกว่งตัวในช่วงแคบ โดยนักลงทุนชะลอการทำธุรกรรมก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันอังคาร ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาที่ 4.25% สอดคล้องกับความคาดหมายของตลาด แต่ตลาดตีความถ้อยแถลงภายหลังการประชุมว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ดำเนินมายาวนานถึง 18 เดือนในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ถึงแม้ว่าผลสำรวจทังกันของธนาคารกลางญี่ปุ่นล่าสุดในเดือนธันวาคม จะบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ก็ตาม นอกจากนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่สดใส เช่น ยอดการขาดดุลการค้าเดือนตุลาคมที่ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ประกอบกับนักลงทุนจำนวนมากเริ่มเทขายเงินดอลลาร์ฯ และซื้อคืนเงินเยน เพื่อทำกำไรก่อนสิ้นปี และเพื่อระบายฐานะที่เคยทำ Carry Trade (คือ การกู้ยืมเงินเยน และขายเงินเยน เพื่อลงทุนในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) ในช่วงก่อนหน้า ส่งผลตามมาให้เงินเยนพุ่งขึ้นแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 115.62 เยน/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ สำหรับในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 116.31 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 120.53 เยนในวันศุกร์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรแกว่งตัวไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความเห็นของตลาดที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนถ้อยคำในแถลงการณ์ภายหลังการประชุมนโยบายการเงินในวันอังคารหรือไม่ ซึ่งเมื่อผลปรากฏว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามความคาดหมายของตลาด พร้อมกับปรับถ้อยคำในแถลงการณ์หลังการประชุม โดยได้ละประโยคที่กล่าวถึงบ่อยครั้งว่า "นโยบายการเงินยังมีทิศทางที่ผ่อนคลายอยู่" ออกไป ทำให้ตลาดตีความว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันน่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ซึ่งกดดันเงินดอลลาร์ฯ ตลอดช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่ เงินยูโรไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนของเยอรมนีที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด สำหรับในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบที่อ่อนค่า โดยมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากรายงานการขาดดุลการค้าเดือนตุลาคม (ประกาศในวันพุธ) ที่ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ก่อนที่การเปิดเผยตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายในวันต่อมา ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนสุทธิในสินทรัพย์สหรัฐฯ ของนักลงทุนต่างชาติที่ทำสถิติสูงสุดใหม่เช่นกันและเพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลการค้าในเดือนเดียวกัน จะช่วยจำกัดขาลงของเงินดอลลาร์ฯ สำหรับในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยของการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 1.2001 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.1776 ดอลลาร์ฯในวันศุกร์ก่อนหน้า

ภาวะตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 691.17 จุด ลดลง 0.94% จากปิดที่ 697.74 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 28.59% จาก 81,133.23 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 57,937.88 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 16,226.65 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 11,587.58 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 155.12 จุด ขยับลง 1.98% จาก 158.26 จุดในสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการเข้าซื้อสลับกับการขายเพื่อทำกำไรเป็นระยะๆ โดยตลาดหุ้นปิดดำเนินการเมื่อวันจันทร์ ส่วนในวันอังคารนั้น ดัชนีปรับตัวลดลงไปเล็กน้อย จากแรงขายเพื่อทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มต่างๆ ทั้ง พลังงาน, ธนาคาร, สื่อสาร, ไฟแนนซ์ และอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการชะลอการลงทุนก่อนการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันพุธ ซึ่งหลังจากที่ธปท.ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกร้อยละ 0.25 สู่ร้อยละ 4.0 ตามความคาดหมายแล้วนั้น ได้ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร, สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ดัชนีสามารถปิดตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวอยู่ในช่วงแคบๆ มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง โดยดัชนีปรับตัวลดลงไปอีกครั้งในวันพฤหัสบดีจากการที่ขาดปัจจัยบวกใหม่ๆมาช่วยหนุนการซื้อขาย ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นอสังหาริมทรัพย์มาช่วยส่งผลให้ปิดตลาดเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในวันศุกร์

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (19 ธ.ค. - 23 ธ.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดหุ้นไทยคงจะยังปรับตัวอยู่ในช่วงแคบๆ เนื่องจากยังคงขาดปัจจัยบวกใหม่ๆมาช่วยหนุนการซื้อขาย โดยนักลงทุนคงจะเข้าซื้อหุ้นสลับกับขายเพื่อทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีคงจะมีแนวรับที่ 686 จุด และแนวต้านที่ 700 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2548 ดัชนี DJIA ปิดที่ 10,875.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.90% จาก 10,778.58 จุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,252.48 จุด ลดลง 0.19% จาก 2,256.73 จุดในสัปดาห์ก่อน ดัชนี DJIA ปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหลังจากที่กลุ่มโอเปกกล่าวว่าจะปรับลดปริมาณการผลิต ได้เป็นปัจจัยลบต่อบรรยากาศในการลงทุนจากความกังวลที่ว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ แต่แรงบวกจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงานทำให้ดัชนีปรับตัวลงไปไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นได้เป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 สู่ร้อยละ 4.25 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยในแถลงการณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจซึ่งได้มีการบ่งบอกเป็นนัยว่าวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดนั้น ได้ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาอย่างมากในหุ้นกลุ่มการเงิน นอกจากนั้น เมื่อวันพุธ ดัชนี DJIA ยังได้รับแรงบวกจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นบริษัทฮันนีเวล อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคห้องขับเครื่องบินรายใหญ่จากความต้องการเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากการที่บริษัทโบรกเกอร์ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิล คอมพิวเตอร์ อิงค์ ส่วนในวันพฤหัสบดีและศุกร์นั้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯทั้ง DJIA และ NASDAQ ปรับตัวลดลง หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขกิจกรรมการผลิตที่แข็งแกร่งในภูมิภาค และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นในเดือน พฤศจิกายน ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะขยายเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปนานกว่าที่คาดไว้ ตลอดจน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้เป็นปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน ในขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับปัจจัยลบจากการประกาศผลกำไรที่ลดลงของบริษัท ออราเคิล คอร์ป

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นไปปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เมื่อวันศุกร์ ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 15,173.07 จุด ลดลง 1.5% จาก 15,404.05 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นโตเกียวทะยานขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในภายหลัง โดยดัชนี NIKKEI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 วันติดต่อกันในวันจันทร์และวันอังคาร ไปปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 15,778.86 จุดเมื่อวันอังคารจากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิเช่น แรงซื้อหุ้นในกลุ่มเหล็กกล้าและโลหะ ซึ่งได้รับแรงบวกจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ, การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่จากความต้องการเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น และราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารหลังจากที่บริษัทโบรกเกอร์ได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 3 วันติดต่อกันหลังจากนั้น โดยในวันพุธที่ผ่านมา ดัชนี NIKKEI ทะยานขึ้นไปอยู่เหนือ 15,800 จุดได้ในช่วงแรกของการซื้อขายหลังจากที่ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคเอกชนรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น(ทังกัน)ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ที่ระดับ +21 เพิ่มขึ้นจาก +19 ในเดือนกันยายน แต่กลับปิดตลาดลดลงไปมากที่สุดในรอบ 2 เดือน โดยลดลงถึง 314.28 จุด ไปปิดที่ 15,464.68 จุดจากแรงขายเพื่อทำกำไรในหุ้นกลุ่มที่ทะยานขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนหน้า เช่น หุ้นในกลุ่มเหล็กกล้าและธนาคาร นอกจากนั้น การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มส่งออก เช่น หุ้นโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และหุ้นมัตสึชิตะ อิเลคทริค ซึ่งได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับเงินเยน และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลงไปเช่นกัน ได้เป็นปัจจัยซึ่งกดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันศุกร์



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน