Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ธันวาคม 2548

สถาบันการเงิน

"ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่หุ้นไทยทะยานขึ้น"

คะแนนเฉลี่ย

"ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่หุ้นไทยทะยานขึ้น"

ตลาดเงิน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินยังคงทรงตัวในกรอบการเคลื่อนไหวเดิมต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน ภาวะสภาพคล่องไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยในระหว่างสัปดาห์มีการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบการเงิน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 3.70-4.05% โดยอัตรากลาง (Mode) ปรับตัวแคบๆ ระหว่าง 3.90-3.93% ส่วนอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร ระยะ 1 และ 7 วัน ปิดค่อนข้างทรงตัวในช่วง 3.90625-3.9375% และที่ระดับ 3.96875% ตามลำดับ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ 5.38% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 5.44% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับลดลง ยกเว้นตราสารระยะสั้นบางประเภทที่ปรับตัวขึ้น โดยการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่านโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะต่อเนื่องของทางการไทยอาจจะเสร็จสิ้นลงในไม่ช้านี้เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.44% ในวันพฤหัสบดี แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับขึ้นติดต่อกันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธ โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ หลังการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทางด้านผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และการทบทวนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลของทางการสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในไตรมาส 3/48 นอกจากนี้ การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯยังเป็นผลมาจากการรายงานยอดการเริ่มต้นสร้างบ้าน (Housing Starts) ที่แข็งแกร่งในเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ ตลอดจนจากคำแถลงในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและการสนับสนุนนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาริชมอนด์ อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับลดลงในวันพฤหัสบดี หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลในเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลตามมาให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve) มีระดับที่แบนราบมากขึ้น

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการแข็งค่าของเงินเยน/ดอลลาร์ฯ และการเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อซื้อเงินบาทของกองทุนในต่างประเทศ ขณะที่เงินบาทไม่ได้รับแรงหนุนมากนักจากการเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าเดือนพฤศจิกายนของกระทรวงพาณิชย์ที่พลิกจากการขาดดุลในเดือนตุลาคม มาเป็นการเกินดุลราว 55 ล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากได้มีการปรับลดเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ลงจากเดิมที่ 20% มาที่ 15.3% อย่างไรก็ตาม เงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ สอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินเยน/ดอลลาร์ฯ ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดต่างประเทศ ชะลอการทำธุรกรรมในช่วงใกล้วันหยุดคริสต์มาส ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นมาที่ 40.910 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้ปิดตลาด เทียบกับของวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 40.947 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในสัปดาห์นี้ (26-30 ธันวาคม 2548) แม้จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปีที่ลูกค้าคงจะมีการเบิกถอนเงินสดเพื่อใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น แต่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นคงจะทรงตัวใกล้เคียงกรอบเดิมอย่างต่อเนื่อง เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้มีการทยอยเตรียมสภาพคล่องรองรับไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว

เงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง 40.85-41.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปริมาณการซื้อขายจะยังคงเบาบางในช่วงเข้าใกล้สิ้นปี ขณะที่ การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจได้รับอิทธิพลบางส่วนจากการประกาศเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนของธปท.ในวันศุกร์

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนแกว่งตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยแม้ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นได้ในวันจันทร์ เพราะเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายเพื่อทำกำไรและปรับฐานะเงินตราก่อนสิ้นปี แต่เงินเยนก็ปรับตัวไปในทิศทางที่อ่อนค่าลงหลังจากนั้น ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการทำธุรกรรมก่อนวันหยุดคริสต์มาส ทั้งนี้ เงินเยนยังได้รับปัจจัยลบจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นจะทรงตัวอยู่ที่ระดับเกือบ 0% ไปอีกสักระยะหนึ่ง ประกอบกับยังคงมีกระแสเงินไหลออกของนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุน หลังจากที่เชื่อว่าเงินดอลลาร์ฯ ร่วงลงมากเกินไปในสัปดาห์ก่อนหน้า และบริษัทสหรัฐฯ ยังคงโอนผลกำไรจากต่างประเทศกลับมาเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อฉวยผลประโยชน์ด้านภาษีที่จะสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ รายงานยอดการเริ่มต้นสร้างบ้านเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ ที่ออกมาดี รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลข GDP Deflator และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Core PCE) ประจำไตรมาส 3/48 ที่ได้รับการทบทวนเพิ่มขึ้นจากเดิม (สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น) ได้กระตุ้นการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนมกราคม 2549 มาที่ 4.5% (จาก 4.25% ในปัจจุบัน) และช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ ไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ในวันศุกร์ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลในเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.1% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 0.2% ประกอบกับประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาริชมอนด์ได้แสดงความคิดเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม เงินเยนอยู่ที่ 116.54 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้ปิดตลาด (เทียบกับ 116.31 เยนต่อดอลลาร์ฯในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า) ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากตลาดญี่ปุ่นปิดทำการ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรอ่อนค่าลง ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ซึ่งหนุนการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เงินยูโรแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากมีข่าวลือจากแหล่งข่าวในธนาคารกลางยุโรปว่า ธนาคารกลางยุโรปมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่ต่ำว่าสองครั้งในปีหน้า ขณะที่ เครื่องชี้ด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด และการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหันมาให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจระงับวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม เงินยูโรมีระดับ 1.1879 ดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้ปิดตลาด เทียบกับ 1.2001 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

ภาวะตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 698.95 จุด เพิ่มขึ้น 1.13% จากปิดที่ 691.17 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 19.92% จาก 57,937.88 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 69,477.11 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 11,587.58 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 13,895.42 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 157.07 จุด ขยับขึ้น 1.3% จาก 155.12 จุดในสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยแกว่งตัวอยู่ในช่วงขาขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็ก และหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ก่อนที่จะทะยานขึ้นไปปิดที่ 698.68 จุด ในวันอังคาร จากแรงซื้อกลับในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานและสื่อสาร โดยบรรยากาศในการซื้อขายได้รับแรงหนุนจากการรายงานตัวเลขดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นในเดือน พฤศจิกายน ของกระทรวงพาณิชย์ และปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยได้มีแรงขายทำกำไรออกมาในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน, วัสดุก่อสร้างและธนาคาร และจากการที่ยังคงไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆมาช่วยกระตุ้นการซื้อขาย ส่วนในวันศุกร์นั้น แรงซื้อหุ้นในกลุ่มสื่อสารนับตั้งแต่ช่วงเช้า และหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และปิโตรเคมี ได้เป็นปัจจัยช่วยหนุนให้ดัชนีขึ้นไปปิดที่ 698.95 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายค่อนข้างเบาบางที่ 11,358 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (26 ธ.ค. - 30 ธ.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดหุ้นไทยคงจะยังปรับตัวอยู่ในช่วงแคบๆ และมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะเบาบางลงก่อนวันหยุดเทศกาลช่วงสิ้นปี โดยนักลงทุนคงจะให้ความสนใจกับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันศุกร์ เช่น ตัวเลขดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้ คาดว่า ดัชนีคงจะมีแนวรับที่ 693 จุด และแนวต้านที่ 705-707 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นสหรัฐ ขยับขึ้นได้ในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2548 ดัชนี DJIA ปิดที่ 10,883.27 จุด เพิ่มขึ้น 0.7% จาก 10,875.59 จุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,249.42 จุด ลดลง 0.14% จาก 2,252.48 จุดในสัปดาห์ก่อน ดัชนี DJIA ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มชิพ หลังจากที่บริษัทโบรกเกอร์ได้ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้น 6 ตัวในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มก่อสร้างบ้านปรับตัวลดลงหลังจากที่สมาคมผู้ก่อสร้างบ้านแห่งชาติรายงาน ดัชนียอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน เมษายน 2546 ในเดือน ธันวาคม ส่วนในวันอังคารนั้น การปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาหุ้นบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง หลังจากที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ประกาศแผนการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในปีหน้าได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันดัชนี อย่างไรก็ตาม การรายงานผลกำไรที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมายขอ งหุ้นการเงิน ได้ช่วยหนุนให้ดัชนีปรับตัวลดลงไม่มากนักก่อนที่จะปิดตลาดเพิ่มขึ้นได้ในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยในวันพุธ ตลาดได้รับแรงบวกจากการรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินความคาดหมายของบริษัทเฟดแอ็กซ์ คอร์ป ซึ่งช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มขนส่ง ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่บริษัทโกลด์แมน แซคปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรในปีหน้าของบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น การรายงานดัชนีการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคโดยไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน อันเป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำได้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้ และการรายงานผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีได้เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนบรรยากาศในการลงทุน ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยอีกครั้งในวันศุกร์

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทะยานสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 15,941.37 จุด เพิ่มขึ้น 5.1% จาก 15,173.07 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นโตเกียวทะยานขึ้นเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันก่อนที่จะปรับตัวลดลงในวันพฤหัสบดี โดยเมื่อวันจันทร์ ดัชนี NIKKEI ได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อเพื่อทำกำไรในหุ้นกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า มอเตอร์, นิสสัน มอเตอร์และฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้าจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 เดือนเพียง 1.73 พันล้านหุ้น ส่วนในวันอังคารตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่มีข่าวการเจรจาซื้อที่ดินระหว่างบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป อิงค์และบริษัทโมริ ทรัสต์ นอกจากนั้น การคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ทั้งนี้ แรงซื้อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดอย่างต่อเนื่องในวันพุธ ในขณะที่การเข้าซื้อหุ้นของบรรดากองทุนต่างๆเพื่อปรับปรุงผลประกอบการของกองทุนก่อนช่วงสิ้นปี และการซื้อหุ้นเทคโนโลยี เช่น หุ้นซอฟแบงก์ โดยนักลงทุนรายย่อยเพื่อทำกำไรในระยะสั้น ได้ช่วยหนุนให้ดัชนี NIKKEI ทะยานขึ้นไปอยู่เหนือ 16,000 จุดได้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2543 ก่อนที่จะปรับตัวลงมาปิดที่ 15,957.57 จุด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี จากแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ก่อนที่ตลาดจะปิดทำการในวันศุกร์เนื่องในวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิ




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน