Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2548

สถาบันการเงิน

"เงินบาทอ่อนทะลุ 41.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นดีดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของปี"

คะแนนเฉลี่ย

"เงินบาทอ่อนทะลุ 41.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นดีดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของปี"

ตลาดเงิน

ในสัปดาห์สุดท้ายของปี อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินทรงตัวถึงปรับขึ้นเล็กน้อย โดยธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับความต้องการใช้เงินของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือนและสำหรับวันหยุดเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 3.90-4.10% โดยอัตรากลาง (Mode) ทรงตัวตลอดสัปดาห์อยู่ที่ระดับ 3.94% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.90-3.93% ในช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ด้านอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดทั้งสัปดาห์อยู่ที่ระดับ 3.9375% เพิ่มขึ้นเช่นกันจากกรอบ 3.90625-3.9375% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนระยะ 7 และ 14 วัน ยังคงปิดไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 3.96875% และ 4.0% ตามลำดับ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ 5.25% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 5.38% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับเพิ่มขึ้นในประเภทระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) ตามการคาดการณ์ทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทย และปริมาณอุปทานตราสารหนี้ภาครัฐประเภทระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะปานกลางและระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลง อันเป็นผลจากความต้องการลงทุนเพื่อปิดฐานะการลงทุนก่อนสิ้นปี และจากแนวโน้มอุปทานตราสารหนี้ภาครัฐประเภทระยะยาวในไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.35% ในวันศุกร์ ลดลงจาก 4.43% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า ภายหลังตลาดปิดทำการในวันจันทร์ ตลาดเปิดสัปดาห์ที่การซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบางด้วยการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในวันอังคาร โดยความกังวลที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ค่าผลต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทอายุ 2 และ 10 ปี (spread) พลิกจากค่าที่เป็นบวกมามีค่าติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ต่อมาในวันพุธ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับเพิ่มขึ้น และ spread จะปิดสิ้นวันด้วยค่าที่เป็นบวก แต่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงแบนราบต่อเนื่อง โดยตลาดมุ่งความสนใจไปที่การปรับตัวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย Conference Board จะเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม สำหรับในวันพฤหัสบดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯได้ปรับลดลง และ spread ได้กลับมามีค่าติดลบอีกครั้ง อันเป็นผลจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจพิจารณาหยุดนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า ถึงแม้ว่าดัชนีภาคการผลิตของเขตชิคาโกจะปรับตัวดีกว่าที่คาดในเดือนธันวาคมก็ตาม ในวันศุกร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปิดสิ้นปี 2548 ที่ระดับ 4.35% เทียบกับ 4.22% ในช่วงต้นปี

เงินบาทปรับตัวไปในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมที่เบาบางในช่วงก่อนปีใหม่ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศยังคงปิดทำการหลังจากสุดสัปดาห์คริสต์มาส และนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ได้ปรับฐานะเงินตราเสร็จสิ้นแล้วในช่วงก่อนถึงวันหยุดปีใหม่ อย่างไรก็ตาม เงินบาทอ่อนค่าชัดเจนขึ้นในช่วงกลางและปลายสัปดาห์ โดยได้รับอิทธิพลจากการอ่อนค่าของเงินเยน/ดอลลาร์ฯ และแรงซื้อกลับเงินดอลลาร์ฯ เพื่อตัดขาดทุนในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเงินบาทอ่อนค่าผ่านแนวรับสำคัญที่ระดับ 41.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันบางส่วนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทยประจำเดือนพฤศจิกายนที่ไม่ค่อยสดใสอีกด้วย โดยดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน ขาดดุล 201 ล้านดอลลาร์ฯ ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่าจะเกินดุลการค้าเล็กน้อยราว 10 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นในสัปดาห์นี้ ไม่ได้ช่วยหนุนเงินบาท ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในระหว่างการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 41.058 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับของวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 40.910 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททำสถิติอ่อนสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ ที่ 41.130 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่หากเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 2547 เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 5.3%

ในสัปดาห์แรกของปี 2549 (2-6 มกราคม 2549) สภาพคล่องโดยรวมคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยคงจะเริ่มมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องภายหลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันศุกร์ ทั้งนี้ คาดว่า อัตรากลางของอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์อาจจะปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 3.93-3.94% ใกล้เคียงกับกรอบการเคลื่อนไหวเมื่อปลายปีก่อนหน้า

เงินบาทคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 40.80-41.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปริมาณการทำธุรกรรมในช่วงต้นปีคงจะคึกคักขึ้น เมื่อนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาสู่ตลาดหลังจากหยุดพักผ่อนช่วงปีใหม่ ขณะที่ ตลาดคงจะมุ่งความสนใจไปที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ดัชนีภาคการผลิต ดัชนีภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธันวาคม เพื่อใช้ประเมินการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อไป

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่สูงกว่าของญี่ปุ่น ได้หนุนเงินดอลลาร์ฯ เกือบตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าทางการญี่ปุ่นจะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับใกล้ 0% ต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ในช่วงต้นและกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ของนักค้าเงินที่เชื่อว่าการเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไรในช่วงก่อนสิ้นปี น่าจะหมดลงแล้ว ขณะที่ ตลาดไม่สนใจการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนของญี่ปุ่นที่ขยับขึ้น 0.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งสนับสนุนความเห็นที่ว่าภาวะเงินฝืดที่ยาวนานของญี่ปุ่นใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว) เนื่องจากเครื่องชี้อื่นๆ ของญี่ปุ่นมีทิศทางที่ปะปนกัน โดยการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของครัวเรือนที่มีรายได้ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับค่าตามฤดูกาลเดือนพฤศจิกายนออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด สำหรับในวันพฤหัสบดี เงินดอลลาร์ฯ/เยน ได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการเปิดเผยข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนธันวาคม ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้ระดับ 118.0 เยน ก่อนที่ขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญข้อจำกัดในวันศุกร์จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไร้ทิศทาง โดยในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 117.31 เยนต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 116.54 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่หากเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 2547 เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ประมาณ 12.7% ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเบาบาง เนื่องจากตลาดหลายแห่ง เช่น ในสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทำการในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการทำธุรกรรมก่อนวันหยุดปีใหม่ ส่งผลให้เงินเยนปรับตัวผันผวนตามข่าวต่างๆ มากกว่าปกติ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรปรับตัวในกรอบแคบๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินยูโรทรงตัว ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากรายงานของบริษัทวิจัยทางการตลาด GfK ของเยอรมนี ชี้ว่าดัชนีชี้นำความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2549 เพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม เงินยูโรไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังจากที่สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสำนัก Conference Board ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนธันวาคม และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในรัฐชิคาโกเดือนธันวาคมที่ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด ถึงแม้ว่าขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ เผชิญข้อจำกัดจากการรายงานยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายนที่ไม่สดใส โดยยอดขายบ้านดังกล่าว ลดลงต่ำกว่า 7 ล้านหลังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.1838 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.1879 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่หากเทียบกับระดับปิด ณ สิ้นปี 2547 เงินยูโรอ่อนค่าลงประมาณ 12.7% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ

ภาวะตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย

ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2548 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 713.73 จุด เพิ่มขึ้น 2.11% จากปิดที่ 698.95 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.83% จาก ณ.สิ้นปี 2547 ซึ่งปิดที่ 668.1 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 18.48% จาก 69,477.11 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 56,634.27 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 13,895.42 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 11,326.85 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 158.28 จุด ขยับขึ้น 0.74% จาก 157.07 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ปรับตัวลดลง 15.87% จาก 188.07 จุด ณ.สิ้นปี 2547

ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอยู่ในช่วงขาขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยปิด ณ.สิ้นปีที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 713.73 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบางในช่วงวันหยุดเทศกาล ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2548 นักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มที่มียอดซื้อสุทธิมากที่สุดที่ 1.19 แสนล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบันและรายย่อยเป็นกลุ่มที่มีการขายสุทธิ 5.14 และ 6.72 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ดัชนีได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อหุ้นในกลุ่มสื่อสาร,พลังงาน และธนาคารส่งผลให้สามารถปิดเหนือระดับ 700 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 เดือน นอกจากนั้น ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเข้าซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนต่างๆ และนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการทำราคาปิดงวดในช่วงสิ้นปี และการทยอยเข้าสะสมหุ้นจากการคาดการณ์ในเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดหุ้นในปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในวันอังคาร ก่อนที่จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยในวันพุธจากแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มสื่อสารและพลังงานและเป็นการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ ส่วนในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นั้น แรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มต่างๆ เช่น พลังงาน, สื่อสาร และอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนีให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (3 ม.ค.-6 ม.ค.2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในสัปดาห์แรกของปี 2549 นั้น ตลาดหุ้นไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยจะเป็นทยอยเข้าซื้อหุ้นจากการคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า นอกจากนั้น นักลงทุนคงจะให้ความสนใจกับการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม ของกระทรวงพาณิชย์ในวันพุธ ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีคงจะมีแนวรับที่ 705-710 จุด และแนวต้านที่ 720-725 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี DJIA ปิดลดลงจากสิ้นปีก่อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2545 ส่วนดัชนี NASDAQ ปิดเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2548 ดัชนี DJIA ปิดที่ 10,717.50 จุด ลดลง 1.52% จาก 10,883.27 จุดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หรือ 0.61% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,205.32 จุด ลดลง 1.96% จาก 2,249.42 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.37% จากสิ้นปีก่อน ตลาดปิดทำการในวันจันทร์เนื่องในเทศกาลคริสมาสต์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในวันอังคาร โดยดัชนี DJIA ปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 เดือนถึง 105.5 จุด สู่ 10,777.77 จุด อันเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของราคาสัญญาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งได้กดดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน เช่น หุ้นเอ็กซอน โมบิล นอกจากนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ปรับตัวลงหลังจากการรายงานยอดขายที่ขยายตัวลดลงในช่วงวันหยุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯทั้ง DJIA และ NASDAQ ฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้งหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จากการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดลงของสต็อกน้ำมันสหรัฐฯในสัปดาห์ล่าสุดและการที่โอเปกอาจจะปรับลดการผลิตในปีหน้า อีกทั้ง การรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธันวาคม โดย Conference Board ซึ่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนสู่ 103.6 จาก 98.3 ในเดือน พฤศจิกายน ได้ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการบริการทางการเงิน ส่วนในวันพฤหัสบดี ตลาดปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากแรงขายทำกำไรหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี เช่น หุ้นแอปเปิล คอมพิวเตอร์ เพื่อทำกำไรก่อนปิดตลาดตอนสิ้นปี นอกจากนั้น การรายงานยอดขายบ้านมือสองที่ลดลงในเดือนพฤศจิกายนได้ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลายเป็นปัจจัยที่กดดันราคาหุ้นในกลุ่มรับสร้างบ้าน และกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในวันศุกร์ โดยเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนดัชนี DJIA ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2545 ในขณะที่ดัชนี NASDAQ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ทะยานสู่ระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 5 ปีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2548 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 16,111.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.07% จากปิดตลาดที่ 15,941.37 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 40.24% จาก 11,488.76 ณ.สิ้นปี 2547 ตลาดหุ้นโตเกียวทะยานขึ้นเมื่อวันจันทร์ก่อนที่จะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 16,000 จุดตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนี NIKKEI ได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกจากข่าวที่บริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในเอเชียในแง่มูลค่าการตลาด จะเข้าซื้อกิจการกลุ่มห้างสรรพสินค้าของบริษัทมิลเลนเนียม รีเทลลิ่ง อิงค์ นอกจากนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกยังได้รับแรงหนุนจากการรายงานยอดขายของห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศของญีปุ่นซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือน พฤศจิกายน โดยการคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ภายในประเทศ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงในวันอังคาร โดยมีแรงขายหุ้นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มของนักลงทุนรายย่อย เช่น หุ้นซอฟท์แบงก์ คอร์ป จากความกังวลเกี่ยวกับการที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวจะออกกฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นด้วยมาร์จินที่เข้มงวดขึ้น ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวขึ้นได้อีกครั้งในวันพุธ จากแรงซื้อหุ้นในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในขณะที่การรายงานข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่ที่แข็งแกร่งในเดือน พฤศจิกายน ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุน ทั้งนี้ ปัจจัยบวกต่างๆเหล่านั้น รวมถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับผลประกอบการที่จน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปีใหม่ของหุ้นกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนี NIKKEI ให้ทะยานขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีในวันพฤหัสบดี โดยปิดที่ 16,344.2 จุดซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน กันยายน 2543 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดทำการเพียงครึ่งวันในวันศุกร์โดยปรับตัวลดลงไปปิด ณ.สิ้นปี 2548 ที่ 16,111.43 จุด อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ดัชนี NIKKEI ได้ทะยานขึ้นถึงร้อยละ 40.24 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2529




ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน