Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มกราคม 2548

ตลาดการเงิน

ประมาณการผลประกอบการระบบธนาคารไทย ไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 : ขยายตัว 17% จากไตรมาสก่อนหน้า

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคารธนชาต) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 โดยหลังจากที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 เท่ากับ 1.97 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย 4.32% นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะมีฐานะกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 โดยคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราขยายตัวประมาณ 16.97% จากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่สูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ดังกล่าว คาดว่าจะเป็นผลจาก ประการแรก การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่น่าจะขยายตัวประมาณ 7.71% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามการเติบโตของสินเชื่อสุทธิ และรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิจากตลาดเงินระยะสั้นที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วันของธปท.ในช่วงระหว่างไตรมาส ประการที่สอง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ คงจะได้รับปัจจัยบวกจากรายการพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการจัดจำหน่าย/เสนอขายหุ้น และกำไรจากการขายเงินลงทุนในหุ้นทุนของบริษัทเอกชนที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้รับจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองหนี้นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.03 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับของไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.05 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะยังเร่งเพิ่มความแข็งแกร่งของระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ คาดว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม จะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3 หลังจากที่การแก้ไขกฎหมาย พรก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ปี 2540 ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2547 ทำให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนยังไม่สามารถโอนสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปยัง บบส.ได้ ประกอบกับ การเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหนี้ของธปท.ในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีปริมาณเอ็นพีแอลจัดชั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2547

เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคาร คาดว่าทุกกลุ่มธนาคารคงจะมีฐานะกำไรสุทธิที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ คงจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1.62 หมื่นล้านบาท (+11.27% จากไตรมาสที่ 3 ของปี 2547) กลุ่มธนาคารลูกครึ่ง คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิประมาณ 0.65 พันล้านบาท (ฟื้นตัวขึ้นจากผลขาดทุนสุทธิประมาณ 0.23 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า) ขณะที่กลุ่มธนาคารรัฐ ประมาณว่าจะมีกำไรสุทธิจำนวน 6.2 พันล้านบาท (+15.37% จากไตรมาสก่อนหน้า)

ในกรณีที่เปรียบเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า จะได้ว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 จะเพิ่มขึ้นสูงถึงประมาณ 132.90% อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ ตลอดจน ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองหนี้ที่ลดลง

เมื่อประเมินเป็นภาพผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยของทั้งปี 2547 แล้ว คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิจำนวนประมาณ 8.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.87 หมื่นล้านบาทของปี 2546 (คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 124.83%) ขณะที่ ประมาณว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (NIM) จะขยับขึ้นจาก 2.14% ในปี 2546 มาอยู่ที่ประมาณ 2.63% ในปี 2547

อนึ่ง ท่ามกลางความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ดีขึ้นในระหว่างปี 2547 การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าท้ายและการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับเลื่อนสถานะของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะนำมาสู่การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจกดดันความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ตลอดจน ความเป็นไปได้ที่กฎหมายทางการเงินหลายฉบับที่ค้างการพิจารณามาจากปี 2547 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ในปี 2548 ธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีสภาพคล่องตึงตัว อาจเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ซึ่งอาจนำมาสู่การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าวด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน