Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 มีนาคม 2548

ตลาดการเงิน

เพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล ... ผลกระทบต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการ

คะแนนเฉลี่ย

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Nonbank เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ธปท. คงจะมีการกำหนดมาตรการควบคุมสินเชื่อบุคคลในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ทางการคงจะให้น้ำหนักต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งการควบคุมความเสี่ยงจากการเกิดหนี้ภาคครัวเรือนในอนาคตเป็นหลัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า หากทางการมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล ผลดีที่เกิดขึ้น คือการสามารถขจัดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงเกินไป รวมทั้งเป็นการกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจทางอ้อม ให้มีการแบกรับความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม ภายใต้กรอบการกำหนดราคาที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อในระบบรวมดีขึ้น ในขณะที่สำหรับกรณีที่หากทางการกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อนั้น จะส่งผลให้สามารถลดปัญหากลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่แบกรับความเสี่ยงในการก่อหนี้ในระดับสูงเกินตัว ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการควบคุมความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ที่ทางการอาจมองว่าไม่สามารถดูแลกลุ่มลูกค้าระดับล่างที่มีระดับความเสี่ยงสูงนี้ได้ดีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการออกเกณฑ์ใหม่จากทางการ คือ การลดระดับการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบของลูกค้าระดับล่าง ที่อาจผลักดันให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอาจจะต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบมากขึ้น

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีการออกมาตรการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คงนำไปสู่การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของผู้ประกอบการต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และระดับความเสี่ยงในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายแบกรับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในตลาดปัจจุบัน เป็นผู้ประกอบการที่มีการดูแลพอร์ตสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้คาดว่ามาตรการกำหนดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้การปรับตัวเป็นไปในลักษณะการลดต้นทุน และการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อให้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายเดิม ในขณะที่น่าจะทำให้การขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีคุณภาพและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อบุคคล น่าจะมีมากกว่าการกำหนดมาตรการควบคุมบัตรเครดิต เนื่องจากฐานลูกค้าของธุรกิจสินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฐานลูกค้าบัตรเครดิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ไม่ว่าเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ทางการคงจะได้ประเมินและชั่งน้ำหนัก ผลดี - ผลเสีย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อระบบโดยรวม มาตรการใหม่ที่จะออกมาอาจเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นต่อการกำกับธุรกิจนี้เท่านั้น ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสมต่อไปได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน