Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มีนาคม 2548

ตลาดการเงิน

ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ของปี 48 : แกว่งตัวในกรอบแคบๆจากปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมาของปี 48 ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในช่วงแคบๆ ประมาณ 60 จุด โดยต่ำสุดอยู่ที่ 684.48 จุด ณ วันที่ 2 ม.ค. 2548 และสูงสุดอยู่ที่ 741.55 จุด ณ วันที่ 28 ก.พ. 2548 แม้ว่าตลาดโดยภาพรวมจะยังมีแนวโน้มปรับขึ้น แต่ในช่วงสั้นๆ ก็ยังมีความผันผวนและทำให้ดัชนีมีการปรับฐานเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ณ วันที่ 18 มี.ค. 2548 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 711.40 จุด คิดเป็นการปรับขึ้น 6.48% จากระดับ 668.1 จุด ณ สิ้นปี 2547 ขณะที่มูลค่าตลาดรวม (Market capitalization) อยู่ที่ 4.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.8 แสนล้านบาทหรือประมาณ 6.9% จากระดับ 4.52 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 ในด้านการซื้อขายนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2548 จนถึงวันที่ 18 มี.ค. 2548 เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 63% มาจากการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 27% และที่เหลือ 10% เป็นการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบัน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิ 6.9 หมื่นล้านบาท

ฐานะการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนประเภทต่างๆ (หน่วย: ล้านบาท)
4 ม.ค.- 18 มี.ค. 2548
ปี 2547
นักลงทุนสถาบัน
-30,217.4
3,089.4
นักลงทุนต่างชาติ
69,019.8
5,611.3
นักลงทุนรายย่อย
-38,802.4
-8,700.9
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน
22,578.5
20,507.8
มูลค่าการซื้อขายรวม
1,196,661.9
5,024,400.3

สำหรับภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 48 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะยังคงอยู่ใต้ความเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงแรกจะได้แก่ การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้ได้มีการซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว ซึ่งนานกว่าสถิติในช่วงตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ที่การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจะไม่เกิน 3 เดือนในช่วงปกติ นอกจากนี้ การลงทุนที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งในด้านสัดส่วนของการซื้อขายทั้งหมดของตลาดและมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ก็ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอาจจะมีการขายเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงต่อไป โดยในช่วงตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 18 มี.ค. 2548 การซื้อของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อประมาณ 30% ของมูลค่าการซื้อทั้งหมดของตลาด เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2547 ขณะที่การขายมีสัดส่วนการขายประมาณ 24% ของมูลค่าการขายทั้งหมดของตลาด เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2547 หรือมีสัดส่วนค่าเฉลี่ยของการซื้อและขาย 27% เทียบกับ 21% ในปี 2547 ส่วนปัจจัยเสี่ยงประการที่สอง จะได้แก่ การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล โดยแม้ว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินในประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะไม่มีผลต่อตลาด (ดังจะเห็นได้จากการที่ดัชนียังปรับขึ้นได้หลังข่าวการปรับขึ้นน้ำมันในแต่ละครั้ง) แต่ในส่วนของการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลนั้น คาดว่าอาจจะทำให้ตลาดปรับลงได้ เนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้างกว่า โดยผ่านทางค่าขนส่งที่สูงขึ้นอันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การปรับขึ้นของราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยกดดันภาวะเงินเฟ้อได้ในที่สุด ซึ่งแม้ว่ากลุ่มโอเปกได้ตกลงที่จะเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน มาเป็น 27.5 ล้านบาร์เรล/วันในไตรมาส 2/48 แต่ความเสี่ยงด้านอุปทานน้ำมันที่ยังมีอยู่จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางและในประเทศผู้ผลิตน้ำมันบางราย ขณะที่อุปสงค์น้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันยังมีความไม่แน่นอนและผันผวนในระดับสูง ประกอบกับการที่รัฐต้องลดภาระการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน รัฐจึงคงต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลต่อไปอีก ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/48 ได้ นอกจากนี้ ตลาดยังมีความเสี่ยงด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งในด้านมหภาคและจุลภาค อันได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย, แนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค, การปรับอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนภาครัฐ ตลอดจนปัญหาอื่นๆที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน เช่น ปัญหาภัยแล้ง, ไข้หวัดนก, และความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนได้ในที่สุด

จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/48 คงจะยังมีความผันผวน โดยแม้ว่าตลาดอาจจะปรับขึ้นได้บางช่วงตามข่าวดีที่เข้ามา เช่น ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแปรรูปและเข้าซื้อขายในตลาดของรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง อันได้แก่ บริษัท ทศท. คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท. โทรคมนาคม, และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อาจจะออกมาเป็นระยะๆ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงรุมเร้าคงจะทำให้การลงทุนเป็นเพียงการเก็งกำไรระยะสั้น อันอาจจะทำให้การปรับขึ้นของดัชนีอยู่ในกรอบจำกัด อย่างไรก็ตาม ในด้านการปรับลงของดัชนีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จะปรับตัวลงไม่รุนแรงมากและอยู่ในกรอบจำกัดเช่นกัน โดยในส่วนของผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลนั้น จากการที่รัฐได้มีการหารือเพื่อเร่งดำเนินการหาจุดราคาที่เหมาะสมและมาตรการรองรับต่างๆซึ่งรวมถึงมาตรการหาพลังงานทดแทนและมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อไม่ให้การลอยตัวน้ำมันดีเซลมีผลกระทบกับเศรษฐกิจมาก ประกอบกับการที่รัฐคงจะมีมาตรการดูแลและควบคุมการปรับขึ้นของราคาสินค้า มาตรการเหล่านี้ก็อาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำมันต่อตลาดได้บ้าง ประกอบกับการที่คาดว่าแม้ว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะมีการขายสุทธิในไตรมาส 2/48 แต่ก็อาจจะมีการกลับเข้ามาซื้อสุทธิสลับในช่วงสั้นๆ อันเป็นผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะยังทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลจากสหรัฐมายังภูมิภาคเอเชียต่อไป ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีข้อได้เปรียบตลาดหุ้นภูมิภาคในแง่ของราคาที่ต่ำกว่า (โดย ณ วันที่ 18 มี.ค. 2548 ค่า P/E ratio เท่ากับประมาณ 9 เท่า ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค) และในแง่ของการที่ดัชนีหุ้นไทยยังปรับขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะสามารถปรับขึ้นต่อและทำกำไรได้ โดย ณ วันที่ 18 มี.ค. 2548 ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นประมาณ 6.5% จากสิ้นปี 2547 ต่ำกว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, และเกาหลีใต้ที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วประมาณ 15%, 12%, และ 9% ตามลำดับ

จากการที่คาดว่าการปรับขึ้นและการปรับลงของดัชนีคงจะไม่รุนแรงและอยู่ในกรอบจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/48 คงจะไม่ผันผวนมาก กล่าวคือ แม้ว่าดัชนีจะปรับลงตามปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้า แต่ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ในบางช่วงตามข่าวดีที่เข้ามาเป็นระยะๆ และตามการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 2/48 ตลาดอาจจะแกว่งตัวในช่วงแคบๆประมาณ 60 จุดใกล้เคียงกับไตรมาสแรก โดยอาจจะมีแนวรับที่ 660 จุด และอาจจะสามารถปรับขึ้นไปทดสอบระดับ 720-730 จุดได้ในบางช่วงตามกระแสข่าวดีที่เข้ามา แต่ก็อาจจะปรับลงในช่วงหลังจากนั้นตามการขายเพื่อลดความเสี่ยงของนักลงทุน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน