Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2548

ตลาดการเงิน

การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท. ... ยังคงเผชิญข้อจำกัด

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่ที่ธปท.ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน จาก 1.25% มาเป็น 1.50% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ในการประชุม MPC วันที่ 25 สิงหาคม 2547 จนกระทั่งการประชุม MPC วันที่ 2 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 4 ครั้งๆ ละ 0.25% รวมเป็น 1.00% ในการประชุม 5 รอบ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.25% นั้น แม้ว่าธปท.จะค่อนข้างประสบความสำเร็จหรือสามารถทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักตามกรอบ Inflation Targeting ดังจะเห็นได้จาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในช่วงขอบล่างของกรอบ Inflation Targeting ในช่วง 0-3.5% รวมทั้งเงินบาทที่ยังคงปรับตัวอยู่ในกรอบเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค แต่หากพิจารณาทิศทางการปรับตัวของตัวแปรในเชิงปริมาณ (Quantitative Measurement) อื่นๆ ภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ไปแล้ว 1.00% อาทิ ฐานเงินในระบบที่ขยายตัวเร่งขึ้น ปริมาณสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ในระบบการเงินไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็บ่งชี้ได้ว่า ในด้านการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านระดับอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง อาจจะยังไม่เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าธปท.จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาบริหารและดูดซับสภาพคล่องบางส่วนออกไปจากระบบด้วยขนาดที่เพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม โดยผลรวมของยอดกู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (ของธปท.และกองทุนฟื้นฟูฯ) ยอดคงค้างพันธบัตรธปท. และฐานะสุทธิ Forward ที่มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7.5 แสนล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2547 ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และ 1.04 ล้านล้านบาทในเดือนมีนาคม 2548

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจ มหภาคที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี คงจะทำให้ธปท.ต้องเผชิญกับความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา โดยการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงที่ผ่านมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการบริหารและดูดซับสภาพคล่องบางส่วนในลักษณะเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการมาแล้ว อาจจะไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ดังนั้น คงจะถึงเวลาที่ธปท.จะต้องมีการทบทวนการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อที่จะให้ตัวแปรในเชิงปริมาณต่างๆ ทั้งฐานเงินและสภาพคล่อง ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท.สามารถส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้มากขึ้น โดยธปท.อาจจำเป็นต้องมีการบริหารและดูดซับสภาพคล่องผ่าน 3 เครื่องมือหลักเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินเกิดผล อย่างที่ควรจะเป็นได้ในที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน