Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 เมษายน 2548

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงจะขยับขึ้นเป็น 3.00% ในการประชุมวันที่ 3 พฤษภาคม

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คงจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 2.75% สู่ระดับ 3.00% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 นี้ แม้ว่าสัญญาณการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะยังมีทิศทางที่ค่อนข้างปะปนกันอยู่ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ น่าจะเป็นผลดีในการทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังคงอยู่ภายในกรอบที่จัดการได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ก็ยังทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับเข้าใกล้ระดับอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นผลบวกสำหรับการช่วยเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงด้วย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดคงจะต้องอาศัยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงถัดๆ ไปที่มากกว่านี้ โดยเฉพาะการขยายตัวของตลาดแรงงานและการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก เพื่อที่จะสามารถบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งแนวโน้มการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในระยะข้างหน้าคงจะมีส่วนอย่างมากต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของเฟด

สำหรับผลกระทบต่อภาคการเงินไทย หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds สู่ระดับ 3.00% ในการประชุมวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ตามที่คาดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ และระดับทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ค่าผลต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิและค่าเงินบาท รวมทั้งอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทางการไทยจะนำมาตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยธปท.คงจะมีการให้น้ำหนักกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักมากกว่า ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ก็คงจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของฐานะสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร ซึ่งปัจจัยหลักคงจะอยู่ที่การขยายสินเชื่อหรือการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ส่วนค่าเงินบาทนั้น แม้ว่าเงินดอลลาร์ฯอาจจะได้รับแรงหนุนในช่วงสั้นหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับ เงินบาทที่อาจได้รับผลกระทบจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่คาดว่าจะขาดดุลในไตรมาส 1/2548 แต่ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงของสหรัฐฯ และแนวโน้มการผ่อนคลายความยืดหยุ่นของค่าเงินหยวนจีน ตลอดจนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังคาดว่าจะเกินดุลได้ในปีนี้ ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้เงินบาทของไทยยังมีค่าเฉลี่ยทั้งปี 2548 ที่ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน