Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤษภาคม 2548

ตลาดการเงิน

ฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย : ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากกว่าค่าผลต่าaงอัตราดอกเบี้ย

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ประเด็นค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กับฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศ ตลอดจนทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-
  • ความสัมพันธ์ของค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กับฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทยมีความแตกต่างกันในระหว่างช่วงก่อนและหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยในช่วงก่อนวิกฤติ ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อทิศทางการปรับตัวของดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิโดยรวมค่อนข้างมาก (ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศของไทย การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงินภายในประเทศและนำมาสู่ความต้องการสินเชื่อจำนวนมาก รวมทั้งการเก็งกำไรค่าเงินบาทภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่) ขณะที่ ในช่วงหลังวิกฤติและการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองกลับไม่ได้เคลื่อนไหวไปด้วยกันมากเท่ากับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า คงจะมีปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ (นอกเหนือจากปัจจัยค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ) ที่มีอิทธิพลในการกำหนดฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย
  • ทั้งนี้ แม้ว่าภาคเอกชนจะบันทึกยอดการไหลออกของเงินทุนสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 ที่ประมาณ 1.99 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียด จะพบว่า การไหลออกของเงินทุนสุทธิดังกล่าวมาจากภาคธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ หรือประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (รวม BIBFs) ขณะที่ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ (Portfolio Investment) ยังคงมีฐานะเงินทุนเป็นการไหลเข้าสุทธิในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 121 และ 5 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้นไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลนัก โดยแม้ว่าค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่มีค่าติดลบเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนต่อการนำเงินทุนออกนอกประเทศของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่สาเหตุเบื้องหลังที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะการที่ธนาคารพาณิชย์ถือครองสภาพคล่องส่วนเกินไว้เป็นจำนวนมาก จากการที่ไม่สามารถจะปล่อยสินเชื่อได้มากอย่างที่คาดหวัง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจรอบด้านในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อที่จะบริหารสภาพคล่องที่มีอยู่ให้เกิดดอกผล ธนาคารพาณิชย์จึงต้องเพิ่มทางเลือกของการบริหารเงินของตนด้วยการนำเงินทุนออกนอกประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2548 จากแรงหนุนของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ก็คงจะทำให้เกิดความต้องการสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น และนำมาสู่การทยอยปรับลดลงของสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร (ซึ่งเริ่มจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นบ้างแล้วในเดือนเมษายน) ทำให้ในที่สุดแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะต้องพิจารณาลด/ดึงกลับเงินทุนที่นำออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ดำเนินธุรกิจหลักของตน ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามที่คาดหวัง ก็คงจะส่งผลในทางบวกต่อแนวโน้มการขยายตัวของ FDI และ Portfolio Investment ไปโดยปริยาย แม้ว่าค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯอาจจะยังคงมีค่าติดลบอยู่ก็ตาม
  • สำหรับประเด็นค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังไม่น่ากังวลมากนักเช่นกัน เพราะแม้ว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม ที่เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม เงินบาทจะอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 4.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ แต่เมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้ว เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.9% ในขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มปรับตัวตามค่าเงินภูมิภาคโดยเฉพาะค่าเงินเยน ดังจะเห็นได้จาก ในช่วงที่เงินบาทเริ่มจะอ่อนค่าลงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ของเงินบาทและเงินเยนก็ยังคงมีระดับที่มากกว่า 70% ซึ่งบ่งชี้ถึงความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างจะสอดคล้องไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ หากพิจารณาฐานะสุทธิ Forward ของธปท. เปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนและหลังการอ่อนค่าของเงินบาทแล้ว ก็บ่งชี้ได้ว่า ธปท.ยังคงมีการเข้ามาดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนออกนอกกรอบค่าเงินภูมิภาค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ก็คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ไม่น้อย
  • โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดอย่างต่อเนื่องต่อไปในอัตราที่เร็วกว่าการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทย ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯมีค่าติดลบเพิ่มมากขึ้นในอนาคตนั้น อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักต่อฐานะดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย โดยน้ำหนักหลักที่น่าจะมีอิทธิพลมากกว่าต่อการไหลเข้าออกของเงินทุน น่าจะอยู่ที่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยสามารถจะฝ่าฟันปัจจัยลบรอบด้านจนกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามที่คาดหวังในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็คงจะส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการลงทุนโดยรวมในประเทศไทย และอาจจะทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ทั้ง FDI, Portfolio Investment และฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของภาคธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นการไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นได้ในที่สุด ในขณะที่ การปรับตัวดังกล่าว ก็น่าที่จะเป็นผลบวกต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย ท่ามกลางภาวะที่เงินดอลลาร์ฯยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณในระดับสูง และแนวโน้มการเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของจีน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน