Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2548

ตลาดการเงิน

แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ : ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) รอบที่ 2 ของปี 2548 วันที่ 2 มีนาคมนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. คงจะมีการชั่งน้ำหนักปัจจัยสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีความเหมาะสมด้วยความยากลำบากมากพอควร ทั้งนี้ หากธปท.ประเมินว่า แนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ยังน่าจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยลบมากมายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายลงอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ภาวะแห้งแล้ง และปัญหาเรื่องไข้หวัดนก) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 2.00% มาเป็น 2.25% ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ก็อาจจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความสมเหตุสมผลสำหรับการสกัดกั้นทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า (pre-emptive) ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะเป็นผลบวกต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง รวมทั้งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของตนตามมาในอนาคต ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศดังกล่าว ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการออมภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นจนอาจสามารถรองรับการขยายตัวของภาคการลงทุนโดยรวมได้ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ก็น่าจะเป็นผลดีสำหรับการรักษาระยะห่างของค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ตรงกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาเป็น 2.75% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 22 มีนาคม 2548

อย่างไรก็ตาม หากธปท.เห็นว่า แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านอุปทานหรือราคาน้ำมันเป็นหลัก ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะภาวะอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศขยายตัวร้อนแรงเกินไป ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจไปซ้ำเติมการขยายตัวของอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศให้เกิดการชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้นแล้ว ธปท.ก็อาจจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.00% ตามเดิม เพื่อประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจ และรอดูสถานการณ์แวดล้อมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม MPC รอบต่อๆ ไปเมื่อเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมากพอ นอกจากนี้ ระยะห่างของค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.75% จาก 0.50% หากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุม FOMC วันที่ 22 มีนาคม จริงตามที่คาด และธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุม MPC วันที่ 2 มีนาคม ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย ท่ามกลางภาวะที่เงินดอลลาร์ฯยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ และเงินทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยยังมีระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเช่นในปัจจุบัน ในขณะที่ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ของธปท.ก็อาจจะทำให้ภาระที่ธปท.ต้องเข้าไปดูแลเสถียรภาพของปริมาณเงินในระบบผ่าน 3 เครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (Buy-sell swap) การกู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย มีระดับต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้นมากด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน