Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มีนาคม 2548

ตลาดการเงิน

ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ย R/P ... คุมเงินเฟ้อ แต่อาจกดดันการใช้จ่ายในประเทศ

คะแนนเฉลี่ย

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (หรืออัตราดอกเบี้ย R/P) ระยะ 14 วัน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นร้อยละ 2.25 ในวันที่ 2 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมานั้น มีนัยที่ชัดเจนว่า ธปท.ได้ให้น้ำหนักต่อการรักษาเสถียรภาพระยะยาวของระดับราคาในประเทศ รวมทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่า ธปท.อาจจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวต่อไปอีก จนกว่าจะถึงระดับที่ธปท.เห็นว่าเหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธปท.คงจะดำเนินการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอีกในการประชุมในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งอาจจะมีการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตามมาอีกในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม จนอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน น่าจะขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 3.00 ก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2548 นี้

แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะมิได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นของตนขึ้นตามการประกาศปรับดอกเบี้ยของธปท.ในขณะนี้ แต่แนวโน้มการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ดังกล่าว น่าจะส่งผลให้ค่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรของธปท.และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ มีความกว้างมากขึ้นไปอีกจากระดับในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ย R/P ดังกล่าว อาจทำให้ ธปท.ต้องรับสภาพคล่องในตลาดซื้อคืนพันธบัตรเพิ่มมากขึ้น จากสถาบันการเงินที่ยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกิน ที่คาดว่าคงจะเพิ่มการปล่อยกู้ในตลาดดังกล่าวตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธปท. ซึ่งย่อมจะทำให้สภาพคล่องของระบบทยอยปรับลดลง เพิ่มเติมไปจากการปรับลดจากการปล่อยสินเชื่อตามปกติของสถาบันการเงิน จนทำให้คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายในสิ้นปี 2548 นี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ คงจะปรับขึ้นเป็นร้อยละ 1.50-1.75 และ 1.75-2.00 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 0.75 และ 1.00 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ไทย คงจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MLR ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเมื่อประกอบกับแนวโน้มการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศแล้ว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริโภคของภาคเอกชนไทยคงจะขยายตัวได้จำกัดมากในปี 2548 นี้

ทั้งนี้ แนวโน้มของการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศดังกล่าว รวมทั้งการชะลอตัวของการส่งออกในปีนี้ น่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงมาเป็นประมาณร้อยละ 5.2 ในปี 2548 จากร้อยละ 6.2 ในปี 2547 ในขณะที่ ธปท.คงจะประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) เฉลี่ยของปี 2548 นี้ คงจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) คงจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0-1.5 เมื่อเทียบกับที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 0.4 ในปี 2547 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน