Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2548

ตลาดการเงิน

คาดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะขยับขึ้นเป็น 2.75%

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จากระดับ 2.50% มาอยู่ที่ 2.75% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 22 มีนาคม 2548 นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ที่เฟดได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง (โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3.5-4.0% ได้ในปี 2548) รวมทั้งภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตลอดจนแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ภายในกรอบที่เฟดดูแลจัดการได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินหน้าเพิ่มระดับความเข้มงวดนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขยับเข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลางมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มองว่า เฟดยังมีความยืดหยุ่นที่จะเพิ่มระดับความเข้มงวดได้มากขึ้นอีกหากพิจารณาว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯอาจปรับสูงขึ้นในอัตราเร่งกว่าที่คาดไว้ อนึ่ง จากความเสี่ยงที่มีจำกัดต่อการที่เฟดจะก้าวไม่ทันแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูงก็อาจกดดันความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดอาจจะยังคงถ้อยแถลงที่ระบุว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป (measured pace) ไว้ในแถลงการณ์หลังการประชุม และรอดูการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในช่วงต่อๆ ไป โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงาน ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อถึงคราวที่เฟดมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจเร่งสูงกว่าที่คาดไว้เดิม

สำหรับผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยแวดล้อมที่ทางการไทยจะพิจารณาประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า แต่ทางการไทยก็คงจะให้น้ำหนักสำคัญไปที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักมากกว่า ซึ่งภายใต้ภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเร่งสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานหรือราคาน้ำมันที่อาจไม่สิ้นสุดลงในระยะใกล้ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะอุปสงค์ในประเทศยังคงถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน (ทั้งภาวะภัยแล้ง ความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาโรคไข้หวัดนก และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งในและต่างประเทศ) ทำให้คาดว่า การตัดสินใจดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยในระยะต่อไปคงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน