Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 เมษายน 2548

ตลาดการเงิน

นโยบายอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ... แนวโน้มขาขึ้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ

คะแนนเฉลี่ย

ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น สวนทางกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้นโดยเฉพาะหากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ทั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยคงจะมีแนวโน้มปรับเข้าสู่ระดับที่มีความเหมาะสมมากขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับคำกล่าวของผู้ว่าธปท.ที่ระบุว่าจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1.00% ในปีนี้ แต่จังหวะเวลาของการเลือกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวก็นับว่ามีความสำคัญ ขณะที่ยังคงเหลือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) อีก 6 รอบ (รวมการประชุมวันที่ 20 เมษายน 2548 นี้ด้วย) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% หลังจากที่ธปท.ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 0.25% ในการประชุมเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่ธปท.เห็นว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่ 0-3.5% ในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในการประชุมวันที่ 20 เมษายน 2548 นี้ ก็น่าจะเป็นการดำเนินการที่มีความสมเหตุสมผล และเป็นการดำเนินการก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นจนส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Pre-emptive) นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% ก็น่าจะเป็นผลดีในการช่วยเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และทำให้ระยะห่างของผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯไม่กว้างมากขึ้น

ในขณะที่ หากธปท.เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องประสบกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนในระดับสูง ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาโรคไข้หวัดนก และผลกระทบจากเหตุธรณีพิบัติภัย อาจจะยิ่งถูกซ้ำเติมมากขึ้นหากธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ธปท.ก็อาจจะรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบนี้ แม้ว่าจะเพิ่มระยะห่างของผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศ เนื่องจากทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยยังคงมีระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน