Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2548

ตลาดการเงิน

ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ครึ่งหลังปี 2548 : ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มการแข่งขันสูงกดมาร์จิ้นต่ำ

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังปี 2548 มีแนวโน้มการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากประมาณการยอดขายรถยนต์ว่าจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกของปี ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่มีผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหม่เกิดขึ้นหลายราย โดยเฉพาะที่ดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์เองหรือในนามบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่ของธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่บุคคลธรรมดาได้ ซึ่งเมื่อความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มลดลงตามยอดจำหน่ายรถ สวนทางกับจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ปัจจุบัน บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในแต่ละบริษัทจะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการแข่งขันเป็นตัวบังคับให้แทบทุกค่ายต้องปรับผ่อนปรนเงื่อนไขการให้เช่าซื้อรถลงมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินดาวน์ลงเหลือเพียง 10-15% ของราคาจำหน่ายรถ และยืดระยะเวลาการผ่อนให้นานขึ้นเป็น 72 เดือน ซึ่งมีผลให้ความเสี่ยงในการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มวงเงินกู้ยืมให้สูงขึ้น และยืดเวลาผ่อนออกไป จะทำให้เงินต้นคงค้างในแต่ละขณะ มีมูลค่าสูงกว่าราคาตลาดของรถยนต์ ทำให้ในช่วงการปล่อยสินเชื่อ 3 ปีแรก บริษัทต้องรับความเสี่ยงอยู่ทุกขณะหากผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด

ด้วยเหตุนี้ การเช่าซื้อรถยนต์จึงยังคงเป็นตลาดของผู้ซื้อหรือผู้กู้ยืมต่อไป แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจการเงินจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักและปรับขึ้นได้ช้า เมื่อเทียบกับต้นทุนการระดมเงินฝากใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากที่ทรงตัวในระดับต่ำตลอดปี 2547-ต้นปี 2548 โดยเงินฝากระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ปรับจาก 1% เป็น 1.5-2.25% และเงินฝากระยะยาว 2-3 ปีปรับขึ้นจาก 1.25-1.5% เป็น 2-3.25%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงถูกตรึงไว้ในอัตราต่ำ โดยดอกเบี้ยเงินกู้เช่าซื้อสำหรับรถใหม่ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2.9% ต่อปี สำหรับเงื่อนไขการผ่อนปกติ คือ วางเงินดาวน์ประมาณ 20% และผ่อนชำระไม่เกิน 48 เดือน ซึ่งคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (effective rate) เพียงประมาณ 5.5% เท่านั้น นับเป็นอัตราที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่กำหนดไว้ 6.0% ในขณะที่มีแนวโน้มว่าต้นทุนการเงินเพิ่งอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น และยังห่างไกลจากอัตราเงินเฟ้ออีกหลายเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น การแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในภาวะปัจจุบัน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งที่เกิดจากการไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับต้นทุนเงินฝาก และจากโครงสร้างเงินทุนที่ไม่สัมพันธ์กับสินเชื่อที่ปล่อย (Mismatching) เนื่องจากการให้กู้ยืมเพื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาโดยเฉลี่ย 4 ปีและกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา แต่โครงสร้างเงินทุนส่วนใหญ่มาจากเงินฝากระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ส่งผลให้มีแนวโน้มว่ามาร์จิ้นในธุรกิจจะเริ่มลดลงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าเอ็นพีแอลของการให้กู้เพื่อเช่าซื้อรถในระบบบริษัทเงินทุนปัจจุบัน จะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำเพียง 1-2% ก็ตาม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าควรจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ปรับลดเงื่อนไขการให้กู้ยืมให้หย่อนเกินไป และบริหารแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องกับเงินที่ให้สินเชื่อ เพื่อสร้างตลาดสินเชื่อเช่าซื้อที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และมีคุณภาพ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน