Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กันยายน 2548

ตลาดการเงิน

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2548...ผลกระทบต่อทิศทางรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของแบงก์ไทย

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากที่ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันในการประชุมวันที่ 7 กันยายน 2548 ที่ผ่านมาด้วยขนาดการปรับขึ้นเหนือความคาดหมายของตลาดที่ 0.50% มาที่ 3.25% นั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ได้ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือนสำหรับลูกค้าทั่วไปในวันที่ 9 กันยายน เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม โดยนับจากสิ้นเดือนมิถุนายน 2548 จนถึงปัจจุบัน (21 กันยายน 2548) ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวหลายรอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม จนปัจจุบัน ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งใดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยคาดว่านอกจากจะเป็นผลมาจากการที่สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงอยู่ในระดับที่สูงแล้ว ธนาคารพาณิชย์แห่งที่มีสภาพคล่องตึงตัวกว่า ก็อาจต้องการซื้อเวลาการจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์ (ซึ่งครองส่วนแบ่งเงินฝากประมาณ 45.2% ของเงินฝากทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย) ที่แพงขึ้นนี้ ออกไปอีก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืม ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากข้อมูลสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินที่วิเคราะห์ตามระยะเวลาครบกำหนดของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามงบการเงินรวม และกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่นั้น พบว่า ธนาคารพาณิชย์น่าจะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นภายในช่วง 3 เดือนแรก (นับจากจุดที่ประเมินในปัจจุบัน) หรือประมาณช่วงไตรมาส 4 ปี 2548 ประมาณ 429 ล้านบาท หรือเท่ากับประมาณ 1.7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.03% (3 Basis Point) จาก 2.9% ที่ทำได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้สินที่เป็นเงินฝากส่วนใหญ่ประมาณ 71% จะมีช่วงครบกำหนดของอัตราดอกเบี้ยภายใน 3 เดือนแรกหลังจากปรับดอกเบี้ย แต่เกือบ 2 ใน 3 ของเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่ยังคงอยู่ที่อัตราเดิม ทำให้ผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยฝากยังเกิดขึ้นไม่เต็มที่ ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลประโยชน์ด้านรายรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะมีผลทันทีสำหรับเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวและเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ครบกำหนดในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 57% ของเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังได้รายรับดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการให้กู้สุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ซึ่ง 78.3% ของสินทรัพย์สุทธิประเภทดังกล่าว จะมีช่วงครบกำหนดของอัตราดอกเบี้ยภายในช่วง 3 เดือนแรกเช่นกัน รวมทั้ง การเพิ่มขึ้นของรายรับดอกเบี้ยจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งร้อยละ 12.8% ของเงินลงทุนทั้งหมด มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นภายในช่วง 3 เดือนแรกที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย ตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนตลาดตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับการขยับอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท. อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.25% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะกลับลดลงทันทีประมาณ 1.1 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงประมาณ 0.069% (6.9 Basis Point)ส่วนหลังจาก 3 เดือนแรกไปแล้ว ธนาคารพาณิชย์คงจะต้องทยอยรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ตามการทยอยครบกำหนดของเงินฝากประจำแต่ละประเภท ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว เช่น 6 เดือน ถึง 2 ปี มากถึง 0.75-1.25% ซึ่งมากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่เพียง 0.25% หลายเท่าตัว

นอกจากนี้ แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ จะยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยจากการลงทุนหลักทรัพย์บางส่วน แต่บทบาทของผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามธรรมชาติของสินทรัพย์ประเภทนี้ ที่ส่วนใหญ่จะมีอายุครบกำหนดค่อนข้างสั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า ในช่วงเดือนที่ 4 ถึงเดือนที่ 12 หรือประมาณช่วงไตรมาส 1-3 ปี 2549 (กินระยะเวลา 9 เดือน) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจลดลงประมาณ 4.1 พันล้านบาท (หรือคิดเป็นการลดลงเฉลี่ยประมาณ 1.4 พันล้านบาทต่อไตรมาส) เช่นเดียวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะหายไปประมาณ 0.09% (9 Basis Point) นอกจากนี้ ในกรณีที่ประเมินเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยต่อรายได้-ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและเงินฝากนั้น จะได้ว่า ในช่วงหลังจาก 1 ปีที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย ฐานะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังลดลงต่ออีกประมาณ 1.3 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาระสุทธิที่เพิ่มขึ้นข้างต้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ก็ยังคงถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งอยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาทในปี 2547 หรือเฉลี่ยประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส

นอกจากนี้ คาดว่าการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ไทยในระหว่างนี้ เช่น การเร่งเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากด้วยการขยายสินเชื่อใหม่ การขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ การรักษาพอร์ตการลงทุนสุทธิในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้นที่ยังคงสูงกว่าต้นทุนดอกเบี้ยฝากเฉลี่ยนั้น คงจะสามารถบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะตามมาในอนาคตได้ไม่ยากนัก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน