Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กันยายน 2548

ตลาดการเงิน

ผู้ลงทุนรายย่อย...กับบทบาทที่เพิ่มขึ้นในตลาดทุนไทย

คะแนนเฉลี่ย

การขยายฐานของผู้ลงทุน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาตลาดทุน ตามแผนแม่บทการ

พัฒนาตลาดทุนไทยที่ทางกระทรวงการคลังได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ ประเภทของผู้ลงทุนในตลาดทุนนั้น สามารถจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investors) และผู้ลงทุนรายย่อย (Retail/Individual Investors) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ซึ่งนับจากช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งเงินฝากแบบออมทรัพย์และแบบฝากประจำได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนหันไปหาช่องทางลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆแบ่งตามประเภทของหลักทรัพย์ ได้แก่ ตราสารทุนและตราสารหนี้และได้ข้อสังเกตดังนี้ สำหรับตราสารทุนนั้น การลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกเสนอขายใหม่ของผู้ลงทุนรายย่อยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนที่ลดลง ถึงแม้การตัดสินใจเลือกรูปแบบการเสนอขายหลักทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับผู้ระดมทุน แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจเป็นการสะท้อนถึงการที่ผู้ระดมทุนมีความแน่ใจว่าหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นจะได้รับความตอบรับที่ดีจากประชาชน จึงน่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสนใจของนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อการลงทุนในตลาดในช่วงเวลานั้นได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์ออกใหม่ของผู้ลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลไปถึงยอดคงค้างของหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนแต่ละกลุ่มถือครองโดยพบว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนรายย่อยก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จนกลายเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นมากที่สุดในปี 2547 ในด้านตลาดตราสารหนี้นั้นสามารถจะแยกการพิจารณาเป็นกลุ่มของผู้ลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (ไม่รวมพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ) และหุ้นกู้ภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าสำหรับตราสารหนี้รัฐบาลนั้น ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันซึ่งเป็นผู้ลงทุนกลุ่มใหญ่ในตราสารหนี้รัฐบาลได้ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนนั้น การลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 57 ในขณะที่สัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 43

ทั้งนี้ การที่ผู้ลงทุนรายย่อยได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุนเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดตราสารทุน

และตราสารหนี้ตามที่ได้กล่าวในข้างต้นนั้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาตลาดทุน หากว่าผู้ลงทุนดังกล่าวเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดทุน การซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยจึงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยหนุนให้มูลค่าการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้น อันจะช่วยเสริมบรรยากาศในการลงทุนและกระตุ้นดัชนีหลักทรัพย์ให้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนในตลาดนั้นจะเป็นตัวสะท้อนความคิดเห็นในเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการออมระยาวผ่านทางตลาดทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยสำคัญซึ่งมีส่วนช่วยหนุนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนในช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะมาจาก ในด้านของอุปทาน ได้แก่ การที่ผู้ลงทุนรายย่อยมีโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆเพิ่มขึ้น จากเดิมที่โอกาสในการเข้าถึงหลักทรัพย์ต่างๆมักจะอยู่ในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบัน โดยการที่มีตราสารซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ,การที่มีหลักทรัพย์เสนอขายในรูปแบบการเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน, การส่งเสริมการลงทุนของรายย่อยในตลาดตราสารหนี้โดยการจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange: BEX) ในด้านอุปสงค์ ได้แก่ ความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เนื่องจากรูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยมีความแตกต่างกับผู้ลงทุนสถาบันหลายประการ โดยเฉพาะการที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรในระยะสั้นมากกว่า ในขณะที่การตัดสินใจในการลงทุนสามารถที่จะกระทำได้อย่างคล่องตัวกว่าผู้ลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง แต่คาดว่ากระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่ง, การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่างๆอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มของผู้ลงทุนรายย่อย สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปนั้น นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยควรจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มแรงจูงใจให้การลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีมากขึ้น และเพิ่มการช่องทางลงทุนให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงหลักทรัพย์ต่างๆมากขึ้นจากในปัจจุบัน เช่น อาจจะอยู่ในรูปของการกำหนดการเพิ่มการกระจายหุ้นให้กับรายย่อยในหลักทรัพย์ที่จะออกใหม่ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนและตระหนักถึงความสำคัญของการออมในระยะยาว อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนในอนาคตต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน