Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤษภาคม 2548

ตลาดการเงิน

ข่าวการปรับค่าเงินหยวน ส่งผลกระเทือนตลาดเงิน

คะแนนเฉลี่ย

ดยสรุปแล้ว การที่ตลาดค้าเงินตอบสนองต่อข่าวลือการปรับค่าเงินหยวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เห็นได้ว่า ประเด็นในเรื่องค่าเงินหยวนมีความสำคัญอย่างมากต่อทิศทางค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ทั้งนี้ หากมีการปรับค่าเงินหยวนจริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สิ่งที่จะตามมาคือความผันผวนของค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค ผ่านกระแสการไหลเข้าของเงินทุนที่เก็งกำไรว่าจะมีการปรับขึ้นของค่าเงินในภูมิภาคตามค่าเงินหยวนของจีน โดยเฉพาะค่าเงินเยนของญี่ปุ่น เงินวอนของเกาหลีใต้ และเงินดอลลาร์ของไต้หวัน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนกับจีนค่อนข้างมาก ในขณะที่เงินบาทของไทยก็คงจะได้รับผลกระทบด้วย อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ในเบื้องต้นทางการจีนอาจจะเลือกปรับค่าเงินหยวนอย่างจำกัด เช่นโดยการขยายช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ทำให้สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ การปรับขึ้นของบรรดาค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่เกิดขึ้นตามการปรับค่าของเงินหยวนนั้น คงจะทำให้ในที่สุดแล้ว เงินหยวนอาจจะยังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศไว้ได้ นั่นคือ การปรับค่าของเงินหยวน อาจจะไม่ได้ช่วยการส่งออกของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกมากนัก ในทางกลับกัน การที่ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค อาจจะพากับปรับค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเหล่านี้ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯต้องการเพื่อที่จะลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตน แต่การปรับตัวดังกล่าว ก็อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้ง ไทย

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้มีท่าทีมาโดยตลอดว่า การปรับเปลี่ยนระบบค่าเงินของจีนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ที่จีนคงจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ รวมทั้งจีนคงจะต้องพิจารณาภาพการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของจีนเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะพิจารณาปรับค่าเงิน เพียงเพราะการเกินดุลการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ทางการจีนคงจะยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขการลงทุน การขยายสินเชื่อ และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากตัวเลขเหล่านี้สามารถชะลอตัวลงได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทางการจีนได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อลดความร้อนแรงของกิจกรรมการลงทุนและการขยายสินเชื่อต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงที่จีนจะเผชิญกับปัญหาฟองสบู่ก็คงจะลดลงได้ ซึ่งทำให้แรงกดดันที่จะมีต่อค่าเงินหยวนก็น่าจะพลอยลดลงตามไปด้วย

แต่กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในที่สุดแล้ว การปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของจีน คงจะต้องเกิดขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งทางการจีนเองก็ตระหนักดีในข้อนี้ เพียงแต่ต้องการให้เกิดขึ้นเวลาที่จีนมีความพร้อมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดเงินมองว่าการปรับค่าเงินหยวนคงจะเป็นที่สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นั้น ทำให้กระแสการเก็งกำไรจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่การเก็งกำไรของนักค้าเงินดังกล่าว กลับทำให้การดำเนินการของจีนประสบกับความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น เพราะทางการจีนจะต้องคำนึงถึงว่า หากเลือกปรับเพิ่มค่าเงินหยวนอย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละไม่มากนัก กระแสการเก็งกำไรก็อาจจะกลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะนักลงทุนจะคาดว่าการปรับครั้งใหญ่คงจะตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน ในขณะที่หากทางการจีนเลือกที่จะปรับครั้งใหญ่ในคราวเดียว (เช่น เลือกที่จะลอยตัวค่าเงินหยวนเลย) ก็อาจจะส่งผลกระทบมากเกินกว่าที่เศรษฐกิจจีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกจะสามารถรับได้ ซึ่งประเด็นความซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้ทางการจีนคงจะต้องครุ่นคิดถึงทางเลือกต่าง ๆ ของตนอย่างระมัดระวัง โดยคงจะเฝ้าหวังว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถชะลอความร้อนแรงลงไปได้จากการดำเนินการมาตรการทางการเงินต่าง ๆ จนทำให้กระแสการเก็งกำไรในค่าเงินหยวน ลดลงไปสู่ระดับที่พอจะสามารถจัดการได้ในที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน