Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ธันวาคม 2548

ตลาดการเงิน

สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2549 : ขยายตัวได้...ภายใต้ข้อจำกัดจากการปรับขึ้นของดอกเบี้ย

คะแนนเฉลี่ย

เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยหากพิจารณาเฉพาะสินเชื่อดี (Performing Loans) ที่ไม่รวมหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) นั้น พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทย สามารถขยายสินเชื่อดีสุทธิได้ประมาณ 2.32 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากสิ้นปี 2547 ประมาณ 5.4%) ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ทำได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 ที่ประมาณ 3.43 แสนล้านบาท (ขยายตัว 8.94% จากสิ้นปี 2546) ขณะที่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว จะได้ว่า สินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ขยายตัว 8.13% ชะลอตัวลงจาก 11.75% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547 ทั้งนี้ การชะลอตัวของสินเชื่อดังกล่าว กระจายไปในสินเชื่อหลายประเภท เช่น สินเชื่อสำหรับธุรกิจก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล มีทิศทางที่ชะลอตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการก่อสร้าง ความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ถดถอยลงในช่วงระหว่างปี

สำหรับในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2548 คาดว่าจะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่ธนาคารพาณิชย์ไทยจะเร่งขยายสินเชื่อเพื่อทำเป้า ซึ่ง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการขยายสินเชื่อให้ได้ตามเป้าขั้นต่ำที่ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2548 นั้น ประมาณว่าสินเชื่ออาจต้องเติบโตอีกราว 1 แสนล้านบาทในระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งสามารถแปลงเป็นสินเชื่อดี ณ สิ้นปี 2548 ที่ขยายตัวประมาณ 7.9% จากสิ้นปี 2547 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเร่งทำเป้าสินเชื่อ เพื่อให้ได้อัตราการเติบโตของสินเชื่อดีดังกล่าว อาจสูงเกินไป ท่ามกลางภาวะการบริโภคและลงทุนที่เพิ่งจะฟื้นตัว ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินอัตราการเติบโตของสินเชื่อดีสำหรับทั้งปี 2548 ที่ประมาณ 6.6-7.3% (คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 2.8-3.1 แสนล้านบาท) ซึ่งชะลอตัวลงจาก 11.75% ในปี 2547 (คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 4.5 แสนล้านบาท)

สำหรับในปี 2549 นั้น ถึงแม้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น อันถือเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการสินเชื่อในภาพรวม แต่ก็อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อจากภาคครัวเรือนที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมากกว่าความต้องการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้แนวโน้มสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบัตรเครดิต น่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากในปี 2548 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อของภาคธุรกิจ ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ดี และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งเสริมการขยายสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ให้ไม่ด้อยไปกว่าของปี 2548 โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตใกล้ระดับเต็มที่แล้ว อุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว กระนั้นก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทำให้ในภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า สินเชื่อดี (Performing Loans) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 น่าจะเติบโตได้ประมาณ 2.8-3.3 แสนล้านบาท หรือ 6.2-7.2% ซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการของปีนี้ที่ 2.8-3.1 แสนล้านบาท หรือ 6.6-7.3% (โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อดีปี 2549 อยู่ในกรอบที่ต่ำกว่าของปี 2548 เนื่องจากผลของฐานสินเชื่อดีที่ใหญ่ขึ้น)

ทั้งนี้ ประเด็นที่ควรจะต้องติดตามในปีหน้า คงจะได้แก่ ผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีต่อความสามารถในการแข่งขันของลูกค้าสินเชื่อในภาคธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ แม้ว่าในปัจจุบัน ปíญหาเอ็นพีแอลจะลดน้ำหนักลงมากจากอดีต แต่เนื่องจากเอ็นพีแอลที่เหลือมีความซับซ้อนของปัญหามาก อีกทั้งสภาพการแข่งขันในการขยายสินเชื่อระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่มีความรุนแรงขึ้น (ตามจำนวนผู้เล่นในตลาดที่ผ่านการยกระดับ ควบรวม และปรับโครงสร้างกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) ผนวกกับความเสี่ยงที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2549 ส่งผลให้ ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์ โดยหันมาหาตลาดสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทน (พร้อมความเสี่ยง) สูงขึ้น เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขของวัฏจักรดอกเบี้ยและสภาพการแข่งขันที่บีบคั้นขึ้นดังกล่าว ถือเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญสำหรับระบบการวิเคราะห์ความเสี่ยงเครดิตและระบบการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในปี 2540

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน